ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านสตูล ยื่นหนังสือเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย และค้านคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรับฟังความเห็นกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ชี้จะสร้างความขัดแย้ง และเอื้อประมงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ตัวแทนสมาคมประมงพื้นบ้าน จ.สตูล ประมาณ 10 คน นำโดยนายอับดุลรอสัก เหมหวัง ได้ยื่นหนังสือถึง รักษาการ ผวจ.สตูล ผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.สตูล และประมง จ.สตูล เพื่อขอให้เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และคัดค้านการออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการให้ทบทวนและรับฟังความคิดเห็น กฎกระทรวง กำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2566 โดยมีนายกูสารี ยาแบโด นักวิชาการนโยบายและแผนชำนาญการ ศูนย์ดำรงธรรม จ.สตูล และนายนิพนธ์ เสนอินทร์ ประมง จ.สตูล ออกมารับหนังสือดังกล่าว

สำหรับเนื้อหาของหนังสือดังกล่าว ทางสมาคมประมงพื้นบ้านทราบว่า จ.สตูล มีคำสั่งโดยการเสนอของ สนง.ประมง จ.สตูล ให้แต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น ทบทวนแนวเขตทะเลชายฝั่ง จ.สตูล ตามกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 โดยอ้างว่าแนวเขตทะเลชายฝั่ง จ.สตูล ตามกฎกระทรวงไม่เคยมีกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่เคยเข้าที่ประชุมคณะกรรมการประมงประจำ จ.สตูล มาก่อน และกล่าวอ้างเขตทะเลชายฝั่งตามกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลกระทบต่อชาวประมงสตูลจำนวนมาก

...

โดยข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะก่อนหน้าการกำหนดกฎกระทรวงฯ เขตทะเลชายฝั่ง จ.สตูล คณะกรรมการประมงประจำ จ.สตูล ในขณะนั้น ได้รวบรวมข้อมูลรับฟังความเห็นมานานกว่า 2 ปี เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อความยั่งยืนสงวนแหล่งเพราะพันธุ์สัตว์น้ำ การรับฟังความคิดเห็นใหม่เพื่อแก้ไขกฎกระทรวงฯ จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง จะนำไปสู่ความขัดแย้งของชาวประมงกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น จึงยื่นหนังสือให้จังหวัดยุติการออกคำสั่งดังกล่าวและแจ้งให้ สนง.ประมงรวมทั้งหน่วยงานปฏิบัติต่างๆ อย่าเพิกเฉย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และบังคับใช้แนวเขตทะเลชายฝั่ง จ.สตูล ทันที หากไม่ยุติการออกคำสั่งภาคประชาชนมองว่าเป็นกระบวนการทำลายผลประโยชน์ของประชาชนคนเล็กน้อย และเอื้อประโยชน์กับประมงพาณิชย์ เครือข่ายจะร่วมกับภาคีทุกส่วนยกระดับคัดค้านและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

นายกำพล ถิ่นทะเล อายุ 57 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า ทำประมงพื้นบ้านอวนปูและตกเบ็ด ได้รับผลกระทบจากเรือประมงขนาดเล็กที่ใช้เครื่องมือพาณิชย์ ซึ่งเรือปั่นไฟดังกล่าวมักจะเข้ามาทำประมงในเขตร่องน้ำซึ่งชาวบ้าน จะเรียกว่าร่องน้ำมานะ ซึ่งเป็นร่องน้ำที่ชาวประมงพื้นบ้านช่วยกันอนุรักษ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และปะการัง เรือประมงขนาดเล็กเครื่องมือพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรือประมงผิดกฎหมายประมาณ 30-40 ลำ มักจะเข้าไปปั่นไฟจับสัตว์น้ำ ซึ่งเรือดังกล่าวเป็นเรืออวนตาถี่หรืออวนมุ้ง แยกแยะสัตว์น้ำไม่ได้ สัตว์น้ำที่เข้ามาไม่เฉพาะปลากะตัก แต่มีลูกปลาทู ลูกปูและสัตว์น้ำวัยอ่อนติดไปด้วยจำนวนมาก

ชาวประมงพื้นบ้าน จ.สตูล กล่าวด้วยว่า เมื่อก่อนพวกตนจับสัตว์น้ำได้กินได้ขาย แต่ปัจจุบันบางวันได้แค่กินเท่านั้น ไม่มีสำหรับขาย ยิ่งอวนปลาทูเหมือนกับจะเลิกทำไปเลย เพราะปลาทูแทบไม่มี สังเกตได้จากปลาทูที่ขายตามท้องตลาดราคาแพงขึ้น คือ ผลพวงจากการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ในฐานะที่เป็นชาวประมงด้วยกันอยากให้เรือเล็กตัดสินใจว่าจะไปทางไหน หากทำประมงพื้นบ้าน ก็ยกเลิกเครื่องมือพาณิชย์ และมาหากินแบบพวกตน แต่หากยังคงใช้เครื่องมือพาณิชย์ก็ให้เปลี่ยนเป็นเรือขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เพื่อได้ไปหาปลาในทะเลลึก การที่ทำผิดกฎหมายแล้วอ้างว่าไม่มีที่ทำกินคือไม่ใช่ พวกเราอนุรักษ์แต่เขามาใช้ประโยชน์ และสำหรับประมงพื้นบ้านก็สามารถใช้เครื่องมือพาณิชย์ได้หากจะทำ แต่เราไม่ทำเพราะเราทำประมงแบบอนุรักษ์เพื่อส่งต่อทรัพยากรให้ลูกหลานในอนาคตต่อไป.

...