ประมงพื้นบ้านสตูลทิ้งอวนทิ้งลอบ หันมาออกเรือไปตักแมงกะพรุนขาย เพราะมีคนมารับซื้อตัวละ 5 บาท สร้างรายได้วันละ 2-6 พันบาท แต่ถ้าเรือเล็กก็จะตักได้น้อย อีกทั้งยังเกิดการจ้างงานในพื้นที่ด้วย

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แพปลาบังเส็น หมู่ที่ 7 ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล ชาวประมงพื้นบ้านเร่งนำเรือเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายแมงกะพรุนที่ออกไปตักมาจากทะเล และนำมาขายให้กับพ่อค้าที่รับซื้อ โดยในช่วงนี้แมงกะพรุนในทะเลสตูลมีมากทำให้ชาวประมงพื้นบ้านเช่นอวนปูอวนปลา ลอบ ต่างทิ้งอาชีพประมง หันมาตักแมงกะพรุนขาย เพราะต้นทุนน้อยราคาดี โดยราคารับซื้อตัวละ 5 บาท ชาวบ้านนำเรือออกไปตักใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงสร้างรายได้อย่างงาม

นายสาดล ท้ามวล ชาวประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า เดิมตนทำประมงพื้นบ้านวางลอบและวางอวน รายได้ก็ได้ไม่มากพอเลี้ยงปากท้อง แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีแมงกะพรุนลอดช่องเข้ามาเยอะ และมีแพรับซื้อไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง ตนจึงเปลี่ยนอาชีพจากทำประมงพื้นบ้านมาออกตักแมงกระพรุนในทะเลขาย เพราะทำอวนปูอวนปลามีต้นทุนหลายอย่าง ออกไปแต่ละครั้งก็ไม่แน่ว่าจะได้ปลาปูหรือไม่ แต่สำหรับแมงกะพรุนลอยอยู่เต็มทะเล เราเพียงแค่ออกแรงตักเท่านั้น ขึ้นอยู่กับความขยันและกำลังที่มี ต้นทุนแค่น้ำมันที่วิ่งเรือออกไปเท่านั้น ตนเรือประมงขนาดเล็กตักได้ไม่มากนัก มีรายได้เพียงวันละ 1,700-2,000 บาท ส่วนคนมีเรือขนาดใหญ่มีรายได้เที่ยวละ 2,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่ที่เขาจะออกไปตักวันละกี่รอบ

...

ด้าน นายอูเส็น สูลสละ เจ้าของแพผู้รับซื้อ กล่าวว่า โดยปกติในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายนจะมีแมงกะพรุนขึ้นเยอะ แต่ 2 ปีที่ผ่านมาแมงกะพรุนกลับมีมาเกือบทั้งปี จึงทำให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพดักลอบวางอวนต่างๆ หันมาตักแมงกะพรุนขาย เนื่องจากสามารถทำรายได้ให้ชาวประมงได้เป็นกอบเป็นกำ เรือเล็กก็ได้น้อยแต่ก็ไม่ต่ำจาก 2,000 บาทต่อวัน เรือใหญ่ก็ได้มากสูงสุดถึงวันละ 6,000 บาทต่อวัน สำหรับต้นทุนที่ใช้ก็แค่ค่าน้ำมันไม่เกิน 300 บาทต่อวันเท่านั้น โดยชาวประมงพื้นบ้านหันมาตักแมงกะพรุนขายมีถึง 90% ของพื้นที่ใน ต.แหลมสน และยังมีแพที่รับซื้อถึง 12 แห่ง ทำให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชนได้เป็นอย่างดี

เจ้าของแพผู้รับซื้อแมงกะพรุน กล่าวด้วยว่า ขณะที่กลุ่มแม่บ้านที่ไม่ได้ออกเรือ ก็สามารถมารับจ้างคัดแยกและดองแมงกะพรุนที่แพรับซื้อได้ นอกจากนี้ตนเตรียมตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรับซื้อและจำหน่ายแมงกะพรุน เพื่อไว้เป็นการต่อรองราคากับผู้รับซื้อและกระจายรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งช่วงฤดูแมงกะพรุนนั้นทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ภาพรวมคึกคักมีเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านบาทเลยทีเดียว สำหรับแมงกะพรุนส่งขายไปยัง กทม.และต่างประเทศ แมงกะพรุนเหล่านี้นิยมนำไปทำอาหารประเภทลวกจิ้ม ยำ ใส่ในเย็นตาโฟ เนื้อกรุบกรับคล้ายเห็ดหูหนูขาว.