องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้ "ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย" จ.พัทลุง เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร แห่งแรกของไทยแล้ว
เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าว จ.พัทลุง รายงานว่า จากกรณีที่คณะกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ลงพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ในการตรวจประเมินพื้นที่ “ระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เพื่อพิจารณาให้การรับรองเป็นมรดกโลกทางการเกษตร
ทั้งนี้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจาก FAO ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับ FAO ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจัดทำเอกสารเสนอ GIAHS เพื่อเสนอขอรับการรับรองเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร โดยได้เสนอให้จัดทำเอกสารข้อเสนอพื้นที่ “ระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เพื่อพิจารณาให้การรับรองเป็นมรดกโลกทางการเกษตรต่อไปนั้น
...
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม (สปษ.โรม) ได้รับแจ้งจากนายโยชิฮิเดะ เอนโดะ ฝ่ายเลขานุการมรดกโลกทางการเกษตรว่า ข้อเสนอโครงการ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง และ จ.สงขลา” ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ของ FAO และได้ประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และนับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ โดยช่วงวันที่ 4-8 ต.ค. 65 นที่ผ่านมา ทาง ศ.ซีครี สลิม (Prof. Zekri Slim) ชาวอิสราเอล เป็นผู้แทนคณะกรรมการ SAG ได้เดินทางตรวจสอบพื้นที่จริงของพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย และให้ข้อเสนอแนะประเทศไทยปรับแก้ไขเอกสารเพิ่มเติม ก่อนยื่นเอกสารข้อเสนอเพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาในช่วงวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาต่อไป.