ชาวบ้านริมชายหาดและผู้ประกอบการท่องเที่ยวบนเกาะสมุยเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนัก กรณีกรมโยธาธิการและผังเมืองจะทำโครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่หาดแม่น้ำและหาดบางมะขาม ซึ่งน่าจะเป็นโครงการนำร่องก่อนขยายไปยังหาดอื่นๆ โดยได้เปิดรับฟังความเห็น ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย. และ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา

เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของกรมโยธาฯบ่งบอกชัดเจนว่าจะทำ กำแพงหรือเขื่อนคอนกรีต ซึ่งเป็นโครงสร้างแข็ง ถึงขนาดจ้างบริษัทเอกชนมาสำรวจออกแบบไว้แล้ว ชาวบ้านจึงส่งตัวแทนในนาม กลุ่มรักษ์หาดเกาะสมุยไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมโยธาฯเพื่อขอให้ยุติโครงการดังกล่าว

สาเหตุที่ชาวบ้านคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดเนื่องจากชายหาดเกาะสมุยมีลักษณะ เป็นอ่าวที่มีแหลมโอบล้อมอยู่ทั้ง 2 ด้าน และ มีคันแนวปะการังตลอดแนวชายฝั่ง ช่วยลดความรุนแรงของคลื่นตามธรรมชาติอยู่แล้ว ต่างกับ ชายหาดที่ทอดยาวบนแผ่นดินใหญ่ ที่มีการกัดเซาะค่อนข้างมาก และการสร้างกำแพงกันคลื่นยังเป็นสาเหตุให้หาดทรายหาย เกิดการกัดเซาะพื้นที่ด้านข้างปลายเขื่อนไปเรื่อยๆ (ส่วนใหญ่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวจึงไม่มีใครออกมาเรียกร้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม)

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์แตกต่างกัน ชาวบ้านบนเกาะสมุยจึงไม่ต้องการให้เอาฐานความคิดจากหาดทรายแผ่นดินใหญ่ไปใช้กับหาดทรายตามเกาะแก่ง และด้วยลักษณะทางภูมิอากาศของเกาะสมุย มีอิทธิพลของลมที่พัดเข้าหาเกาะตลอดทั้งปี มีทั้งหมด 8 ทิศ ได้แก่ ลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้ (ลมตะเภา) ลมใต้ (ลมสลาตัน) ลมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมพัดยา) ลมตะวันตก ลมตะวันตกเฉียงเหนือ (ลมพัดหลวง) ลมเหนือ (ลมว่าว) และลมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมอุตรา) ลมทั้ง 8 ทิศจะช่วยชักนำคลื่นซัดทรายกลับมาเติมบนชายหาดอยู่แล้ว

...

ชายหาดแม่น้ำบริเวณที่ถูกกัดเซาะมีความยาวเพียง 50 เมตร กระแสน้ำคลื่นลมจะฟื้นฟูชายหาดได้เหมือนเดิมในแต่ละรอบปี ไม่มีความจำเป็นต้องไปสร้างกำแพงคอนกรีตตลอดแนวชายฝั่ง 1.5 กิโลเมตร รวมถึงแนวชายหาดบางมะขาม 2.3 กิโลเมตร ยังมีวิธีอื่นที่รักษาธรรมชาติและประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เช่น กำหนดแนวถอยร่น ปลูกต้นมะพร้าว ปักรั้วไม้ดักทราย เป็นต้น

โครงสร้างเขื่อนบนชายหาดยังทำให้เกิด การเคลื่อนย้ายตะกอนทราย จนสูญเสียสภาพหาดทรายอย่างถาวร ซึ่งหาดทรายเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตที่ฝังตัวในทราย ทั้งปู หอย กุ้ง เป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหาร เช่น ลูกปลา ลูกปู ลูกกุ้ง เพรียง และเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายชนิด การสูญเสียชายหาดย่อมส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชุมชนประมงชายฝั่ง ทั้งยังกระทบต่อการจัดงานประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน วิถีชีวิตชุมชนที่ใช้ประโยชน์บนหาดทรายด้วย

เกาะสมุยเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลที่มีมูลค่าสูง สร้างรายได้มหาศาลให้กับชุมชนบนเกาะและประเทศไทยมานานหลายสิบปี โดยอาศัย ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ เป็นต้นทุนสำคัญ การทำเขื่อนโครงสร้างแข็งไม่ว่ารูปแบบใดจะเป็นการทำลายต้นทุนทางธรรมชาติ และรายได้จากการท่องเที่ยว

กลุ่มรักษ์หาดเกาะสมุยยังได้ไปยื่นหนังสือถึง อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้ช่วย ทำความเห็นแย้ง ไปยังกรมโยธาฯ พร้อม เสนอแนวทางที่เหมาะสมและยั่งยืน ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูชายหาด

ถ้าจะแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ผมขอเสนอให้เชิญกรมเจ้าท่ามาร่วมพิจารณาด้วย จะได้จัดการเอาผิดเอกชนที่สร้างโรงเรือนรุกล้ำชายหาดทั้งหมดในคราวเดียว.

“ลมกรด”