เดิมชุมชนริมทะเลปักษ์ใต้มีวัฒนธรรมการปลูกข้าวนาริมเล ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์พื้นที่ริมทะเลสาบในช่วงหมดฤดูฝน เริ่มปลูกข้าวต้นเดือนมิถุนายน ตอนน้ำในทะเลสาบลดระดับ และเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี

แต่ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับสายพันธุ์ข้าว ไม่สามารถยืนต้นสู้กับกระแสคลื่นของทะเลสาบได้ ผลผลิตข้าวที่ได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่มีการใส่ปุ๋ยระหว่างการปลูก สุดท้ายวิถีการปลูกข้าวริมเลจึงเริ่มจางหายไปตามกาลเวลา แต่บัดนี้วัฒนธรรมการปลูกข้าวริมเลกำลังฟื้นกลับมาใหม่ ด้วย “ข้าวหอมเลน้อย”

...

“หอมเลน้อย เป็นข้าวเจ้าหอม พื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ให้ผลผลิตสูงไร่ละ 800-900 กก. สามารถปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะนาลุ่มภาคใต้ที่มีวิถีการทำนา ริมเล สามารถตอบโจทย์การสนับสนุนการฟื้น และสืบสานวัฒนธรรมการทำนาของคนใต้ และยังถือเป็นการบูรณาการงานวิจัยเชิงพื้นที่สนับสนุน การขับเคลื่อน BCG สาขาเกษตร ปัจจุบันปลูกทดสอบในพื้นที่ทะเลน้อย จ.พัทลุง ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชาวปักษ์ใต้”

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และหัวหน้าทีมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) บอกถึงคุณสมบัติของข้าวหอมเลน้อย ที่จะช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมปลูกข้าวริมเลของชาวปักษ์ใต้

ด้วยทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการความร่วมมือการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวนาชลประทานให้ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับกรมการข้าวโดยใช้ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นฐานพันธุกรรม คัดเลือกสายพันธุ์จนได้ต้นแบบสายพันธุ์ข้าวระดับห้องปฏิบัติการ ที่เป็นข้าวเจ้าหอม พื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีในสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เมื่อได้รับทุนวิจัยต่อยอดจาก สวทช. เพื่อปลูกประเมินลักษณะทาง การเกษตร และทดสอบผลผลิตในสถานีและแปลงเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ จนได้พันธุ์ข้าว “หอมเลน้อย” ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 800-900 กก. มีความเสถียรทั้งผลผลิตและคุณภาพ อยู่ระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืช

ต่อมาได้รับโจทย์งานวิจัยจากสถาบัน วิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนักวิจัยจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ถึงปัญหาวิถีการปลูกข้าวนาริมเล เนื่องจากพื้นที่การปลูกข้าวลดลงอย่างมาก ทีมวิจัยฯจึงต้องการฟื้นวัฒนธรรมวิถีการทำนาริมเล โดยเริ่มนำสายพันธุ์ข้าวชนิดนี้ไปทดลองปลูกในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง ตั้งแต่ปี 2563 พบว่า ข้าวพันธุ์นี้มีความสูง 120 ซม. ลำต้นแข็งแรงสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพนาริมเลที่มีคลื่น โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลสาบสงขลา

...

นอกจากทนต่อคลื่นลม ความเค็ม โรคและแมลงศัตรูพืชแล้ว ยังสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งต้องการข้าวหอมนุ่ม แต่ชุมชนและเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวพันธุ์ กข55 ที่เป็นข้าวพื้นแข็ง ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการได้อีกด้วย นอกจากนั้น ทีมวิจัยฯยังได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และหน่วยงานกรมชลประทาน วางแผนบูรณาการยกระดับการผลิตข้าวในพื้นที่ภาคใต้บนวิถีความมั่งคงทางอาหาร ด้วย “BCG Model” ก่อให้เกิดรายได้ทั้งด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการท่องเที่ยวของจังหวัด.

กรวัฒน์ วีนิล