ปลัดมหาดไทยเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และ งานหัตถกรรมระดับภาค ประเดิมภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา จากนั้นจัดประกวดครบทุกภาค คัดสรรให้เหลือ 150 ผืน/ชิ้น เพื่อนำไปชิงชนะเลิศระดับประเทศ ย้ำเป็นการสร้างการตื่นตัวพัฒนาฝีมือการทอผ้าและงานหัตถกรรมไทย โดยต้องคำนึงถึงการสร้างเรื่องราวของสินค้า สร้างแพ็กเกจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เพิ่มต้นทุน ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูดี มีคุณภาพสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้

ที่โรงแรมเดอะเบด เวเคชั่น ราชมังคลา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัด กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับภาค มีนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงาน และนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ จากนั้น นายสุทธิพงษ์กล่าวว่านับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสานต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม ราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อย่างยิ่งยวด ทรงอุทิศเวลา และทรงใช้สติปัญญาต่อยอดงานของสมเด็จพระพันปีหลวง โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2565 ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม สมเด็จ พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานผ้าลาย “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้สนองพระดำริฯ ด้วยการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ประจำ ปี 2565

...

นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค เป็นโครงการต้นแบบที่จะต้องเรียนรู้และไปขยายผล นอกจากนี้ พระองค์ทรงรณรงค์ให้ใช้สีธรรมชาติ ซึ่งเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือการพึ่งพาตนเอง โดยการไม่ใช้สีจากสารเคมี ให้ใช้สีจากธรรมชาติแทน ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย เพื่อลดต้นทุน และสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ จากแนวพระราชวินิจฉัยให้ลด ละ เลิก และทำลายสีเคมี เพราะสารเคมีส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน แหล่งน้ำ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค พระองค์มีพระประสงค์ ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวด้วยว่า กิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน และงานหัตถกรรม ระดับภาค ที่ จ.สงขลา เป็นจุดดำเนินการที่ 1 มีผ้าไทย จำนวน 242 ผืน และงานหัตถกรรม จำนวน 82 ชิ้น รวม 324 ชิ้น จากทุกจังหวัดภาคใต้คัดสรรเพื่อนำไปชิงชนะเลิศระดับประเทศ จุดดำเนินการครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ภาคกลาง ในวันที่ 3 ก.ย. ณ โรงแรมสุวรรณาริเวอร์ไซด์ อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท จุดดำเนินการที่ 3 ภาคเหนือ ในวันที่ 10 ก.ย. ณ โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ และจุดดำเนินการที่ 4 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย. ณ โรงแรมมลฑาทิพย์ฮอลล์ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี และการประกวดรอบคัดเลือก ในวันที่ 24 ก.ย. ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. โดยคัดเลือกผ้าและงานหัตถกรรม ให้คงเหลือ 150 ผืน/ชิ้น เพื่อประกวดในรอบ Semi Final และรอบตัดสินในระดับประเทศต่อไป

“การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค จะทำให้เกิดการตื่นตัวและการพัฒนางานฝีมือ ทุกเทคนิคของผู้ประกอบการ OTOP ช่างศิลป์ และช่างทอผ้าทุกคน กิจกรรมในวันนี้สำคัญมาก เป็นการปลุกเร้าให้ใช้ความเพียรพยายามในการผลิตชิ้นงานส่งเข้าประกวด ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงการสร้างเรื่องราวของสินค้า เช่น ผ้าลายขอสิริวรรณวรี หรือผ้าลายขิดนารีรัตน์ราชกัญญา ที่มีตัว S หมายถึงตัวอักษรแรกของพระนามพระองค์ท่าน หรือรูปหัวใจ ที่หมายถึง ความรักอันบริสุทธิ์ ไม่หวังสิ่งตอบแทน เป็นต้น รวมถึงการสร้างแพ็กเกจ หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เพิ่มต้นทุน ทำให้ผลิตภัณฑ์ดูดี มีคุณภาพ สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการสร้างแบรนด์ของสินค้า ซึ่งจะทำให้เกิดการจดจำในการแข่งขันระดับสากล” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว