การฟื้นฟู “ทะเลไทย” ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็น “บ้าน” ของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่หลายสายพันธุ์ ทั้งสร้างแหล่งปะการังหลากหลายชนิด เพื่อเป็นสีสันของโลกใต้ทะเลลึกที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์
คืองานอนุรักษ์ใต้ทะเลที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพียรฟื้นฟูมายาวนาน ในพื้นที่นำร่องในทะเลบริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ที่เคยทรุดโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวาผ่านการศึกษา-ทดลอง โดยการเคลื่อนย้ายขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ที่หมดอายุสัมปทาน ของบริษัทเชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จำนวน 7 แท่นกลางอ่าวไทย ไปวางในจุดน้ำลึก เพื่อให้เป็นบ้านหลังใหม่ของสัตว์น้ำ รวมทั้งต่อยอดพัฒนาให้เป็นแหล่งดำน้ำระดับโลก
ล่าสุด เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทีมนักประดาน้ำ ทส.นำโดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. พร้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. และทีมนักสำรวจ ลงพื้นที่กลางทะเลลึก บริเวณจุดวางปะการังขาแท่นปิโตรเลียมทั้ง 7 แท่น อยู่ห่างจากเกาะพะงันราว 7.5 ไมล์ทะเล ความลึกประมาณ 35-40 เมตร
...
“รู้สึกพอใจมากกับสภาพระบบนิเวศใหม่ ที่มีแนวโน้มจะเป็นแหล่งปะการังที่สมบูรณ์และสวยงาม สามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์และแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต โดยบริเวณรอบๆขาแท่นเต็มไปด้วยปะการังหลากหลายชนิด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ ย้ายเข้ามาอาศัยในบ้านหลังนี้จำนวนมาก ขณะที่ จุดที่อยู่ตื้นใกล้ผิวน้ำก็มีความสมบูรณ์มากปะการังอ่อนและปะการังแข็งเจริญเติบโตได้ดี มีปลาสีสันสวยงามแหวกว่ายหากินหลายสายพันธุ์ แต่เมื่อดำลึกลงไปที่ระยะ 30-35 เมตร พบว่าจุดที่ลึกลงไป ยังต้องรอการฟื้นตัวอีกสักระยะ แต่ในภาพรวมถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากร ทางทะเลที่สวยงามและสมบูรณ์” นายวราวุธ กล่าวหลังลงสำรวจ
ณ วันนี้ สภาพระบบนิเวศใหม่ของทะเลพะงัน คือมีสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะทะเลได้รับการฟื้นฟู จนกลายเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด เช่น ปลาโนรี ครีบยาว ปลาสลิดทะเลแถบ ปลาค้างคาว ปลาปักเป้า ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง ฯลฯ ปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาอินทรีย์ ปลาริวกิว และอีกหลายชนิดที่ไม่เคยพบมานานกลับเข้ามาอาศัยอยู่ เช่น ปลาหางแข็ง ปลาโฉมงาม ทั้งมีความหนาแน่นและชุกชุมของประชากรปลาเพิ่มขึ้น ขณะที่บริเวณขาแท่นที่อยู่ใต้น้ำยังพบมีกลุ่มปะการังอ่อนและกัลปังหา ที่มีโอกาสขยายพื้นที่ปกคลุมเพิ่มขึ้น
“แหล่งปะการังจากขาแท่นทะเลเกาะพะงัน มีศักยภาพเป็นแหล่งอนุรักษ์ และในอนาคตยังมีแนวโน้มที่อาจจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้ แต่ได้ย้ำกับ ทช.ให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงรวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ และให้ขยายผลการดำเนินงานไปในพื้นที่อื่นๆต่อไป นอกจากนี้อยากให้มีการศึกษาเทคนิคเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผสานองค์ความรู้ทางวิชาการ และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด” นายวราวุธ กล่าว
ขณะที่ นายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. กล่าวว่า พื้นที่ปะการังเทียมขาแท่นปิโตรเลียม บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายก รัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ ภายหลังการวางขาแท่นเป็นแหล่งปะการังเทียม
ทช.ได้ประกาศมาตรการคุ้มครองทรัพยากรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2564 และจะสิ้นสุดการบังคับใช้วันที่ 8 มี.ค.2566 ซึ่งเป็นการห้ามการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงทุกชนิด ห้ามดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำ หรือการกระทำที่อาจมีผลกระทบต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตในบริเวณดังกล่าว เพื่อช่วยเร่งการเกาะตัวของปะการังอ่อนและสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์ใต้ทะเล
...
“การลดกิจกรรมของมนุษย์ในช่วงแรกทำให้ประ สิทธิภาพของการเกิดแหล่งปะการังใหม่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่และทีมนักวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติ ที่สำคัญ ทช.เตรียมแผนประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามมาตรา 22 ต่อไป” อธิบดี ทช. ระบุ
ขณะที่ภาพรวม ทช.ได้มีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการจัดวางเป็นแหล่งปะการังเทียมไปแล้ว กว่า 150,000 แท่ง สร้างแหล่งปะการังแห่งใหม่ใต้ท้องทะเลกว่า 36,000 ไร่ เพื่อฟื้นฟูทะเลไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์
ด้าน นายอรรจน์ ตุลารักษ์ ผู้จัดการฝ่ายโครงการร่วมทุน บริษัทเชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า จากการสำรวจพบการ เข้าอยู่อาศัยของประชากรปลาหนาแน่นขึ้น มีความหลากหลายของชนิดปลาเพิ่มขึ้น ทั้งยังพบการฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิตเกาะติดที่ดีบริเวณของขาแท่นฯ ตลอดจนผลการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณกองปะการังเทียมอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงเชื่อมั่นว่ากองปะการังเทียมแห่งนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ด้านฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญให้กับชาวประมงในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ในอนาคต
...
นั่นหมายความว่า ผลจากการฟื้นฟูปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียมได้สร้างประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทยทั้งในแง่ของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเกาะพะงัน ที่จะเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชื่นชอบการดำน้ำจากทั่วโลกและจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประเทศ
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่า การอนุรักษ์ และการสร้างแหล่งท่องเที่ยว หัวใจสำคัญคือการสร้างความสมดุลให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้น ทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมดอาจจะกลับไปซ้ำรอยเดิม
สิ่งที่เราอยากฝากคือ การถอดบทเรียนและติดตามผลกระทบระหว่างการอนุรักษ์ และการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทุกมิติอย่างใกล้ชิด
เพื่อให้ทะเลไทยเป็น “บ้าน” ที่แท้จริงให้กับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม