"องคมนตรี" นำคณะ กปร.ลงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อติดตามและขับเคลื่อนโครงการ "อ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลู" เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค-ทำเกษตร-หนุนชุมชนนวัตวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นแหล่งหล่อเลี้ยง-สร้างอาชีพให้ชาวบ้านในพื้นที่อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี และประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ (กปร.) พร้อมด้วย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการ กปร. นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการ กปร. ได้เดินทางไปยังอาคาร
ธรรมาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบลบางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง เพื่อร่วมประชุมรับฟังรายงานความก้าวหน้าของโครงการฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่าน ซึ่งพบว่ากรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจ ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (IEE) แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทั้งนี้เมื่อโครงการฯแล้วเสร็จจะช่วยราษฎรในเขต ต.บางสัก อ.กันตัง จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านควนตุ้งกู หมู่ที่ 3 จำนวน 175 ครัวเรือน, บ้านน้ำราบ หมู่ที่ 4 จำนวน 255 ครัวเรือน, และบ้านเขาพลู หมู่ที่ 6 จำนวน 110 ครัวเรือน รวมทั้งหมด 540 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 2,700 คน มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งพื้นที่การเกษตรประมาณ 450 ไร่ จะมีน้ำใช้ทั้งปี ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น ตลอดถึงสามารถบริหารจัดการให้ลำคลองพลูมีน้ำหล่อเลี้ยง และไหลออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ป่าชายเลนและแหล่งท่องเที่ยวประจำหมู่บ้าน สามารถให้บริการผู้คนได้อย่างต่อเนื่อง
"เมื่อความสมบูรณ์เกิดขึ้นอย่างครบวงจร มีภูเขา มีป่าบก มีน้ำ มีป่าชายเลน มีชายหาด และมีกุ้ง หอย ปู ปลา ก็สามารถกล่าวได้ว่าชุมชนนวัตวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ก่อเกิดขึ้นแล้ว ณ อ.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง อย่างเป็นรูปธรรม" พล.อ.กัมปนาท กล่าว
...
ด้าน นายประทีป สังข์ทอง ราษฎรบ้านเขาพลู ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง หนึ่งในราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลู พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง เปิดเผยว่า แหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อว่า "เขาจมป่า" อยู่บนเขาพลูที่บ้านน้ำราบ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทั้งป่าโกงกางที่มีลำคลองคดเคี้ยวออกสู่ทะเล ภูเขาลูกนี้โอบล้อมด้วยป่าชายเลนผืนใหญ่เป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำเค็มตามธรรมชาติ ที่หล่อเลี้ยงอาชีพประมงชายฝั่งมาเป็นเวลานาน นักท่องเที่ยวที่เข้าชมธรรมชาติและบรรยากาศป่าชายเลนก่อนออกสู่ทะเลแหวก ที่มีนามเรียกขานว่า "สันหลังมังกร" โดยสันทรายจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาตอนน้ำลงสามารถลงไปเดินเล่นถ่ายรูปได้ ซึ่งมีแพของกลุ่มประมงพื้นบ้านให้บริการ ทำให้ราษฎรมีรายได้จากการจำหน่ายอาหารทะเล และบริการแพ แต่ทั้ง 3 ประการนี้ คือ ป่าชายเลน การประมงชายฝั่ง และทะเลแหวก จะต้องอาศัยความสมบูรณ์จากน้ำในลำคลองเขาพลูเป็นสำคัญ ในการสรรสร้างตามธรรมชาติให้เกิดขึ้น
นายประทีป เล่าต่อว่า ที่ผ่านมามีความเดือนร้อนมากเนื่องจากน้ำในลำคลองพลูเริ่มแห้ง ในช่วงหน้าแล้งไม่มีน้ำ ทำให้ราษฎรในพื้นที่ขาดแคลนน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ป่าชายเลนได้รับกระทบจากน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามามากขึ้น ประมงชายฝั่งต้องออกทะเลไกลกว่าเดิมทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงเกิดเวทีประชาคมขึ้นและชาวบ้านทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในคลองพลู โดยให้ อบต.บางสัก ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเขาพลูพร้อมระบบส่งน้ำฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549
"พูดจริงๆ มีประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้มีน้ำกิน น้ำใช้ และแหล่งท่องเที่ยวที่อาศัยน้ำในลำคลอง เพื่อให้บริการล่องแพชมป่าชายเลนออกไปจนถึงชายทะเลที่มีความสวยงาม หลังจากโครงการฯแล้วเสร็จเราจะร่วมกันบริหารจัดการน้ำ โดยมีคณะกรรมการจากตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านมาช่วยดูแล นับตั้งแต่การเก็บน้ำ การปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยว" นายประทีป ระบุทิ้งท้าย
...