หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิด ยิงถล่ม 5 จุดในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และการลูบคมเจ้าหน้าที่ด้วยการโจมตีฐานปฏิบัติการตำรวจน้ำตากใบ ทำให้หลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาตึงเครียด และหน่วยความมั่นคงทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ต้องทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
พร้อมกับปรับแผนที่มุ่งสู่การป้องกันและรักษาความปลอดภัยในสถานที่สำคัญของหน่วยราชการ ฐานทหาร สถานีตำรวจ โรงเรียน วัด และย้ำประกาศขอความร่วมมือประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องในเรื่องที่ต้องสงสัย เพื่อเป็นตาสับปะรดให้เจ้าหน้าที่ ในการพบสิ่งผิดปกติให้แจ้งได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 พร้อมพล.ต.ท.นันทเดช ย้อยนวล ผบช.ภ.9 ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดยตรง ต้องประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ และลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจทหาร ตำรวจ ผู้ใต้บังคับบัญชา ตามฐานปฏิบัติการ โดยย้ำเรื่องการ "ไม่ประมาท" และยึดนโยบายที่มอบไว้ เพื่อดูแลพื้นที่รักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ที่ผ่านมากลุ่มก่อเหตุต่างๆ มักสร้างสถานการณ์สู่ความหวาดกลัว
...
แม้ฝ่ายไทยมีความพยายามนำปัญหาในพื้นที่ จชต. ขึ้นสู่โต๊ะเจรจาไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 55 กับดาโต๊ะ สรี ฮิสฮัมมุดดิน บิน ตุน ฮุสเซน รมว.กลาโหม มาเลเซีย ที่มีการหยิบยกการแก้ปัญหาเสริมสร้างด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ไทย-มาเลเซีย เพื่อให้เกิดความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ชายแดนทั้งสองประเทศ ความมั่นคงของทั้งสองประเทศในทุกระดับ
รวมถึงขอให้ "มาเลเซีย" ดำรงการสนับสนุนในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.ที่ไทยยืนยันแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี หรือแม้แต่ "คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ได้เปิดโต๊ะเจรจากับคณะผู้แทน BRN นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน โดยมีการหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ และได้ทำข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว จนทำให้สถานการณ์ช่วงเดือนรอมฎอนเกิดเหตุลดลง
แม้เหตุการณ์ครั้งนี้ จะไม่มีการชี้ชัดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด แต่ที่ผ่านมา กลุ่มพูโล PULO P4 หรือ "องค์การสหปัตตานีเสรี" มี นายซัมซูดิง คาน เป็นหัวหน้า และมีกองกำลังชื่อว่า PLA หรือ Patani Liberation Army ส่วน G5 เป็นกองกำลังใหม่ของกลุ่มพูโล MKP ที่มี นายกัสตูรี่ มาห์โกตา เป็นหัวหน้ากลุ่ม ยังคงปฏิบัติการก่อเหตุเรื่อยมา
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 มองว่าการก่อเหตุครั้งนี้ให้น้ำหนักในเรื่องของการตอบโต้ผลจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปจัดการกับกลุ่มพ่อค้ายาเสพติด และของสิ่งผิดกฎหมาย ที่ "กองทัพ" ได้ใช้อำนาจการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่เมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม เปิดแผนในการเข้ากวาดล้างธุรกิจผิดกฎหมายหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอตากใบ ได้ตรวจสินค้าหนีภาษี ไม่ว่าจะเป็นสุรา บุหรี่ หรือแม้กระทั่งน้ำมันหนีภาษี และล่าสุดได้มีการตรวจค้นพร้อมกัน 29 จุดในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้กลุ่มที่เสียผลประโยชน์ใช้โอกาสในการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง
...
เพราะการที่กลุ่มธุรกิจมืด ผิดกฎหมาย เสียประโยชน์จำนวนมากจึงมุ่งสู่การสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ เพราะหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ทำการกวาดล้างก็มักจะมีการตอบโต้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่พยายามรวบรวมวัตถุพยาน รวมทั้งการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด และข้อมูลด้านการข่าวเชิงลึก เพื่อที่จะคลี่คลายและสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากอะไร
ขณะเดียวกันมุมมองอดีตทหารในพื้นที่ดูการประเมินฝ่ายความมั่นคงจะขัดแย้ง เพราะยังเชื่อว่าการก่อเหตุ สร้างความหวาดกลัวให้ เจ้าหน้าที่ ประชาชน ในพื้นที่ล่าสุด ยังเป็นฝีมือของ "กลุ่มแนวร่วม" และกลุ่มต่างๆ ต้องการเรียกร้องความสนใจ จากที่ฝ่ายความมั่นคงมอง เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และพยายามกดดันเจ้าหน้าที่ เพื่อต้องการเข้ามาวงพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
และการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เห็นควรขยายระยะเวลาการประกาศฯ ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ จชต. ยกเว้น อ.ศรีสาคร, อ.สุไหงโก-ลก,อ.แว้ง, อ.สุคิริน จ.นราธิวาส อ.ยะหริ่ง อ.ไม้แก่น, อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.เบตง, อ.กาบัง จ.ยะลา ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 20 มิ.ย.-19 ก.ย. 65 (ครั้งที่ 68)
...
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยังคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จึงได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานเพื่อเห็นชอบตามที่หน่วยพื้นที่เสนอมา
แต่ในส่วน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี การก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่มีแนวโน้มลดลง จึงเห็นชอบให้ปรับลดพื้นที่ ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เนื่องจากผ่านเกณฑ์การประเมิน และนำพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้แทน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของการบังคับใช้กฎหมาย
ขณะที่ แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ ที่ผ่านมาสถานการณ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดส่งผลให้พี่น้องประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหา ทั้งหมดเกิดจากการประสานงานร่วมกันจากทุกฝ่าย และเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าทุกส่วนจะร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยใช้กลไกของส่วนราชการกับเครื่องการพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
...
ด้าน พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผบ.ฉก.นราธิวาส ที่ลุยในพื้นที่ ได้ย้ำการปฏิบัติงานต่อหน่วยในสังกัด ให้กำลังพลระมัดระวังการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุต่อเป้าหมายอ่อนแอ การก่อเหตุด้วยระเบิดแสวงเครื่องแบบเร่งด่วน การใช้ไปป์บอมบ์ต่อฐานฯ การลวงเข้าพื้นที่ การก่อเหตุต่อระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เพื่อตอบโต้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ทุกอย่างจะต้องไม่ประมาท
ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า รัฐบาล กองทัพ ได้เดินมาถูกทางในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาใน จชต. เพื่อสร้างความสุขสงบของคนในพื้นที่ โดยการเมืองนำการทหาร และน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มาเป็นหลักการสร้างสันติสุข พูดคุยด้วยสันติวิธี ให้สามารถอยู่ในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย แต่ไม่แตกแยก เพื่อเรียกศรัทธา และความเชื่อมั่นกลับคืนสู่หัวใจของพี่น้องประชาชนต่อไป
ผู้เขียน : ยุทธจักรเขียว
กราฟิก : sathit chuephanngam