“ผู้เชี่ยวชาญฉลามชาวอเมริกัน” ระบุ เด็กชายชาวต่างชาติวัย 8 ขวบ ที่ลงเล่นน้ำ หาดกมลาแล้วถูกสัตว์ลึกลับกัดขาเป็นแผลเหวอะ คาดมาจากคมเขี้ยว “บูลชาร์ก” หรือ “ฉลามหัวบาตร” ไม่ต้องหวาดวิตกจนไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเล ชี้ไม่ใช่ฉลามที่ดุร้ายมุ่งโจมตีทำอันตรายมนุษย์ ปกติกินสัตว์ทะเลขนาดเล็กเป็นอาหาร คาดอาจเข้าใจผิดคิดว่าเด็กเป็นเหยื่อที่กินได้เลยลองงับดู

จากเหตุการณ์ระทึกขวัญ กรณีช่วงบ่ายวันที่ 1 พ.ค. หน่วยกู้ชีพ อบต.กมลา นำตัวเด็กชายชาวต่างชาติวัย 8 ขวบ มีบาดแผลฉกรรจ์ที่ขาขวาหลายจุด ขึ้นจากทะเลชายหาดกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ส่งรักษาที่ รพ.กรุงเทพภูเก็ต เบื้องต้นยังไม่ทราบแน่ชัดว่าถูกสัตว์ทะเลชนิดใดกัดหรือทำร้ายจนเกิดบาดแผลฉกรรจ์ หลังเกิดเหตุมีการแชร์ภาพบาดแผลดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจพิสูจน์หรือวินิจฉัยบาดแผลว่าเกิดจากคมเขี้ยวของสัตว์ชนิดใด

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 2 พ.ค. ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำและผู้เชี่ยวชาญฉลามชาวอเมริกัน ที่อาศัยอยู่ใน จ.ภูเก็ต เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบาดแผลดังกล่าว นายเดวิดเปิดเผยว่า เห็นภาพดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. จากประสบการณ์ที่เคยดำน้ำถ่ายภาพสัตว์ทะเลมาทั่วโลก เบื้องต้นคาดว่าเป็นฉลามบูลชาร์ก หรือฉลามหัวบาตร กัดที่ขาของเด็กต่างชาติดังกล่าว เนื่องจากเป็นบาดแผลลักษณะกัดแล้วกระชากหรือสะบัด แตกต่างจากการกัดของสัตว์ทะเลทั่วไป

“บูลชาร์กเมื่อโตเต็มวัยจะยาวถึง 3-3.5 เมตร นิสัยของบูลชาร์กไม่ใช่ฉลามที่ดุร้าย หรือจ้องจะทำอันตรายมนุษย์ แต่อาจเข้าใจผิดคิดว่าคนเป็นเหยื่อที่สามารถกินเป็นอาหารได้ ในธรรมชาติบูลชาร์กจะกินสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็ก เช่น หมึก กุ้ง เม่นทะเล และเต่าทะเล บูลชาร์กสามารถว่ายน้ำเข้ามาบริเวณชายฝั่งหรือบริเวณน้ำที่ขุ่นได้ เนื่องจากมีเรดาร์ที่ปลายจมูก รับรู้การเคลื่อนไหวบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ข้างหน้าได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่สามารถมองเห็นก็ตาม ยังขอยืนยันว่า ชายหาดกมลา หรือชายหาดในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีความปลอดภัยจากฉลามหรือสัตว์ทะเล” นายเดวิดกล่าว

...

ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นจากอินเตอร์เน็ตพบว่า บูลชาร์กหรือฉลามหัวบาตร มีรูปร่างอ้วนป้อม หัวกลมป้านมีขนาดใหญ่ ข้อที่สองครีบหลังเป็นกระโดงรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน มีนิสัยดุร้าย กินปลาและสัตว์ต่างๆในน้ำเป็นอาหาร รวมทั้งอาจทำร้ายมนุษย์ได้ด้วย พบอาศัยในทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง ขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 3.5 เมตร มีน้ำหนักได้ถึง 316.5 กิโลกรัม เป็นปลาฉลามที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดได้ พบเป็นบางครั้งในแม่น้ำใหญ่ที่ห่างจากทะเลนับร้อยกิโลเมตร เช่น แม่น้ำมิสซิสซิปปี, แม่น้ำอะเมซอน, แม่น้ำแซมบีซี, แม่น้ำไทกริส, แม่น้ำแยงซี, ทะเลสาบนิคารากัว ในประเทศไทย เช่น แม่น้ำโขง, แม่น้ำแม่กลอง, แม่น้ำสาละวิน ฯลฯ

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน ก.ย.58 มีนักท่องเที่ยวสาวชาวออสเตรเลีย วัย 37 ปี เคยถูกสัตว์ทะเลกัดบริเวณหลังเท้าซ้ายเป็นแผลฉกรรจ์ ขณะลงเล่นน้ำที่ชายหาดกะรน อ.เมืองภูเก็ต ในช่วงเวลากลางวัน ต่อมาผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลวิเคราะห์จากลักษณะบาดแผลที่กัดแล้ว พบว่า บาดแผลฉีกขาดและลึกจนถึงชั้นเนื้อ ขอบแผลเรียบคล้ายถูกของมีคมตัดเฉือน คาดว่าจะต้องเป็นปลาที่มีฟันใหญ่ คม และปากกว้างพอจะทำให้เกิดแผลลักษณะนี้ สันนิษฐานน่าจะเป็นสัตว์จำพวกฉลาม เช่น บูลชาร์ก ฉลามหูดำ หรือฉลามที่หากินตามชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยไม่มีรายงานฉลามโจมตีมนุษย์อย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ต่อมา เวลา 14.00 น. ที่ รพ.มิชชั่นภูเก็ต ถนนเทพกระษัตรี ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รอง ผวจ.ภูเก็ต พร้อมด้วยนายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและ ชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต และนายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำและผู้เชี่ยวชาญฉลามชาวฝรั่งเศส ได้เข้าเยี่ยมอาการ ด.ช.วัย 8 ขวบ ลูกครึ่งไทย-ยูเครน ที่ถูกสัตว์ในทะเลกัดขณะลงเล่นน้ำบริเวณชายหาดกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เมื่อเย็นวันที่ 1 พ.ค. ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลฉกรรจ์ที่น่องขวา หน่วยกู้ชีพ อบต.กมลา นำส่งรักษาตัวที่ รพ.ป่าตอง ต่อมา ส่งตัวรักษาต่อที่ รพ.กรุงเทพภูเก็ต และเข้ารับ การรักษาในเวลาต่อมาที่ รพ.มิชชั่นภูเก็ต เบื้องต้นแพทย์ได้เย็บบาดแผลไปกว่า 30 เข็ม เจ้าหน้าที่ได้เยี่ยมอาการและพูดคุยกับเด็กชายดังกล่าว มีครอบครัวคอยดูแลอาการใกล้ชิด

นายพิเชษฐ์กล่าวภายหลังการเยี่ยมอาการและ พูดคุยกับ ด.ช.ผู้บาดเจ็บว่า วันนี้ได้เข้าพบผู้ประสบเหตุ ที่ชายหาดกมลา หลังลงเล่นน้ำห่างจากแนวชายหาดราว 100 เมตร ลึกไม่ถึง 1 เมตร เด็กที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นลูกครึ่งไทย-ยูเครน แม่เป็นชาวไทย ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด และพักอาศัยอยู่ใน จ.ภูเก็ต ทั้งนี้ ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมีการช่วยเหลือเยียวยาในสิทธิ์ที่พึงจะได้ แต่เมื่อเป็นคนที่อยู่ในจังหวัด สิทธิ์นั้นจะตกไป แม่ของเด็กเข้าใจเป็นอย่างดี ส่วนสัตว์ทะเลที่เข้าทำร้ายเด็ก นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นผู้วินิจฉัยได้ดีที่สุด จากนี้ไปต้องมีบีชการ์ดคอย กำกับดูแลการลงเล่นน้ำทะเลของนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจะต้องปักป้ายเตือนและหอคอยสอดส่องดูแลนักท่องเที่ยวในช่วงที่ปลาชนิดนี้จะเข้ามาตามแนว ชายฝั่ง และอาจใช้โดรนช่วยสำรวจ

ด้านนายก้องเกียรติกล่าวถึงสัตว์ทะเลที่ทำร้าย เด็กว่า เบื้องต้นสงสัยฉลามอยู่ 2 ชนิด คือ ฉลามบูลชาร์ก หรือฉลามหัวบาตร และฉลามแบล็คทริป หรือฉลามครีบดำ-หูดำ ส่วนใหญ่ที่พบบริเวณชายหาด กมลา อ.กะทู้ จะพบฉลามหูดำหรือครีบดำ แต่จาก ความคิดเห็นของนายเดวิด มาร์ติน ช่างภาพใต้น้ำ และผู้เชี่ยวชาญฉลามเชื่อว่าถ้าเป็นฉลามครีบดำหรือหูดำเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากลักษณะการ เข้าโจมตีเหยื่อจะรุนแรงมาก กรณีผู้บาดเจ็บรายนี้เชื่อว่าอาจเป็นฉลามบูลชาร์ก อย่างไรก็ดีจะไม่ยืนยันว่า เป็นสายพันธุ์ใด แต่บาดแผลเกิดจากฉลามแน่นอน

“เราตัดข้อสงสัยเกี่ยวกับปลาสากออกไปได้เลย เพราะบริเวณตรงจุดที่เกิดเหตุไม่ใช่บริเวณแหล่งหากินของปลาสาก โดยเฉพาะบาดแผลที่พบเป็น บาดแผลที่เกิดจากฉลาม มีทั้งฟันบนและฟันล่างอยู่รวมกัน เป็นบาดแผลของมีคมทั้ง 2 ด้าน และมีการ งับทั้งฟันบนและฟันล่างพร้อมกัน ตรงกับลักษณะบาดแผลที่เกิดจากฉลาม ประกอบกับบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นโซนนิ่งที่ฉลามออกหากิน ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการเคลื่อนไหวของผู้บาดเจ็บบริเวณน้ำที่ขุ่น ฉลามเข้ามาหาอาหาร และคิดว่าเป็นอาหารเลยกัดขา ผู้บาดเจ็บ แต่เมื่อกัดเข้าไปแล้วไม่ใช่อาหาร ไม่ได้โจมตีซ้ำ และนับว่าเกิดขึ้นได้น้อยครั้งมากกับเหตุการณ์ ในลักษณะเช่นนี้” นายก้องเกียรติกล่าว

...