สิ้นสุดการรอคอยเริ่มขับเคลื่อน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา แห่งที่ 4 ในโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” กำหนดกรอบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ตามมติ ครม. 14 ธ.ค.2564 มอบหมายให้ “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)” เป็นเจ้าภาพจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์นี้ที่กำหนดแนวทางรับฟังความคิดเห็น 5 ครั้ง ใน 4 กลุ่มคือ1.กลุ่มภาครัฐและเอกชน 2.กลุ่มผู้ห่วงใยผลการพัฒนา 3.กลุ่มแนวร่วมการพัฒนา 4.กลุ่มนักวิชาการ
วันที่ 10 ก.พ. ได้รับฟังความคิดเห็นภาครัฐและเอกชนแล้วอีก 3 กลุ่มและประชุมร่วม 4 กลุ่มได้ในเดือน มี.ค.เพื่อแต่งตั้งคณะกำกับจัดทำ SEA เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายระดับชาตินำไปใช้ปฏิบัติเป็นรูปธรรม
ท่ามกลาง “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” เรียกร้อง “สศช.” ดำเนินงานให้มีกลไกกำกับสนับสนุนการศึกษา SEA เที่ยงตรงเป็นกลางอย่างแท้จริงนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ เล่าว่า ตอนนี้ประชุมรับฟังความคิดเห็นแล้ว 3กลุ่ม ทั้งฝ่ายคัดค้าน ฝ่ายสนับสนุน หน่วยงานภาครัฐ แต่เหลือกลุ่มนักวิชาการน่าจะจัดขึ้นเร็วๆนี้
...
ข้อมูลที่ได้จาก “การรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ” ก็ต้องถูกนำไปประมวลผลประกอบการพิจารณาจัดทำ SEA ด้วยหลักวิชาการเชิงลึกอย่างแท้จริง แล้วควรอยู่บนรากฐานทรัพยากรมีอยู่เดิมทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะภูมินิเวศวัฒนธรรมอ่าวจะนะอันเป็นหนึ่งเดียวกับอ่าวปัตตานี
ตั้งแต่คลองนาทับ คลองสะกอม แม่น้ำเทพา กลุ่มคลองตุหยง ป่าชายเลนหนองจิก แม่น้ำปัตตานี อันมีสารอาหาร และน้ำจืดไหลลงทะเลทำให้อุดมสมบูรณ์หนาแน่นด้วยประมงที่มีวิถีทำมาหากินแบบพื้นบ้าน
แล้วไม่เฉพาะความสัมพันธ์เชิงนิเวศเท่านั้น แต่เพราะ จ.สงขลาตอนล่าง และ จ.ปัตตานี ทั้งหาดใหญ่ สงขลา สะเดา จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อยหนองจิก โคกโพธิ์ ปัตตานี ยะหริ่ง ยะรัง ปานาเระ เชื่อมโยงเศรษฐกิจผูกมัดทางสังคมวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นการศึกษา SEA ต้องครอบคลุมทั้งในพื้นที่จ.สงขลา และ จ.ปัตตานีด้วย
ส่วนการจัดจ้างหน่วยงานเข้ามาทำหน้าที่ภารกิจนี้ ครม.เคยเห็นชอบตามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เสนอให้ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ดำเนินการศึกษา แต่ว่า สศช.ก็ยังไม่รับปากใดๆ
ต่อมาต้องยอมรับว่า “การกำหนดกรอบจัดทำ SEA” เป็นเสมือนตั้งไข่เริ่มต้นการเกิดนิคมอุตสาหกรรมจะนะหรือไม่ แล้วมีความสำคัญมากเพราะถ้าตั้งไข่ไม่ลงตัวถูกหลักไม่ถูกต้องมักไม่ถูกยอมรับต่อการสร้างเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะแน่นอน ดังนั้นการจัดทำ SEA ควรต้องใช้เวลาดำเนินงานรอบด้านที่สุด
เท่าที่ดูรูปการณ์คร่าวๆ “กรอบการศึกษานิคมฯจะนะไม่ต่ำกว่า 2ปี” และก็หวังว่าการจัดทำ SEA จะมีความเป็นกลางยืนบนหลักการใช้วิชาการในการศึกษารอบด้าน แล้วใช้ข้อมูลศักยภาพพื้นที่ที่ครบถ้วนในการใช้ชุดความคิดการพัฒนาที่ถูกต้องนั่นคือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ใส่ใจเสียงของคนพื้นที่และเสียงสาธารณะด้วย
ไม่ว่าผลการศึกษา SEA จะออกมาในทิศทางใด เมื่อผลการศึกษามีความชอบธรรม และสาธารณชนยอมรับมักนำมาสู่ “การตัดสินใจการสร้างนิคมฯจะนะต่อได้” แต่หากโครงการฯไม่อาจไปได้จริงๆ ก็อย่าฝืน ควรถอย ยุติการดำเนินงานอย่างสมบูรณ์ อย่าปล่อยให้ต้องคาราคาซังไม่ยอมจบสิ้น
ด้วยเราไม่ต้องการให้เกิดอย่างกรณี “เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่”ที่มีภาคประชาชนออกมาคัดค้านมายาวนานกว่า 50 ปี เพราะด้วย “รัฐบาลไม่ยอมปิดโครงการฯ” ทำให้คาราคาซังกันมาตลอด ฉะนั้น “ชาวจะนะ” อยากให้ผลการศึกษา SEA มีความชัดเจนบนหลักการใช้วิชาการในการศึกษารอบด้านแล้วตัดสินใจ
...
มิเช่นนั้นเมื่อ “รัฐบาลเปลี่ยนใหม่” โครงการนิคมฯจะนะก็จะกลับมาหลอกหลอนไม่มีวันจบสิ้นแล้ว “ชาวบ้าน และธุรกิจชุมชนดีๆ” ไม่อาจคาดหวังแนวทางการทำมาหากินได้ชัดเจน เช่น “ท่องเที่ยวชุมชน” ก็ไม่อยากลงทุนเยอะ เพราะเกรงเกิดนิคมฯ จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาท่องเที่ยวด้วยซ้ำ
เรื่องนี้ทำให้ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นตั้งใจจัดทำ SEA ฉบับประชาชนจะนะ” เพราะด้วยปกติแล้ว “ชาวบ้าน” มักอยู่แบบวิถีชีวิตตามทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่ “การศึกษา SEA ฉบับประชาชนจะนะ” จึงไม่ใช่เรื่องยากหากออกแบบการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบทางวิชาการนี้
ตัวอย่างง่ายๆ “แตงโมจะนะ” ถ้ามีระบบจัดเก็บข้อมูลก็จะทราบผลผลิตทั้งหมดที่ใช้เวลาปลูก 3 เดือน ผลผลิตไร่ละหลักแสนบาท แม้แต่ “อาชีพเหลาซี่ทำกรงนกเขา” เป็นอาชีพต่อเนื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงและเพาะพันธุ์นกเขาชวาของคนจะนะ สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนชุมชนมาต่อเนื่องยาวนาน ไม่ต้องไปทำงานนอกบ้าน
...
แต่ด้วยที่ผ่านมา “ไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลเชิงวิชาการ” ดังนั้นต่อไปนี้ภาคประชาชนจะมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบแล้วเมื่อเสร็จสมบูรณ์จะถูกส่งมอบให้กับ “คณะกรรมการศึกษา SEA” นำไปประกอบการพิจารณาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) บนพื้นฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันควรพัฒนาในทิศทางใด
สมมติว่า “ผลสรุปชี้ชัดทรัพยากรท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้”ก็ควรต้องมีการต่อยอด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมนกเขาจะนะ อุตสาหกรรมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และทรัพยาการทางบกทางทะเลอีกมากมาย
แล้วถ้า “มีการพัฒนาอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้จะถูกทำลายหรือไม่” เหตุนี้คนจะนะจึงไม่เห็นด้วยให้มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาทำลายวิถีชุมชน ทำให้ต้องหาคำตอบด้วยการจัดเก็บข้อมูลเชิงวิชาการเพื่อสนับสนุนการคัดค้านครั้งนี้แทนการเดินประท้วงที่ “ภาครัฐไม่ยอมรับ” จึงต้องหันมาสู้ด้วยหลักฐานทางวิชาการนี้
...
“สิ่งกังวลคือ “ผลพวงจากการเมืองยุบสภาฯ ก่อนตั้งงบประมาณในการศึกษา” ที่อาจกระทบต่อกระบวนการจัดทำ SEA หรือหากมีการศึกษามาแล้วเกิดเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ก็จะส่งผลต่อการยอมรับผลการศึกษานี้มากน้อยเพียงใดอีก เพราะด้วยคณะทำงานการศึกษาทั้งหมดถูกตั้งจากรัฐบาลปัจจุบัน”นพ.สุภัทรว่า
จริงๆแล้ว “แนวคิดเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ล้วนเกิดขึ้นจาก “ปัจจัยทางการเมือง” ตาม ครม.มีมติปี 2559 ให้ อ.เบตง จ.ยะลาเป็นเมืองต้นแบบพัฒนาพึ่งพาตนเอง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมืองต้นแบบการค้าชายแดน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมืองต้นแบบพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน
ก่อนนำมาเชื่อมโยง “อ.เทพา จ.สงขลา” มีแผนทำท่าเรือขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วขยายมายัง “อ.จะนะ” พัฒนานิคมฯ 2 หมื่นไร่ ในอนาคต อ.หนองจิก อ.เทพา อ.จะนะ จะถูกเชื่อมเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามแผนถูกมองไว้เพื่อทดแทน “นิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง” ที่ไม่อาจพัฒนาขยายออกไปได้
เหตุนี้ย้ำว่า “SEA คือ เครื่องมือกำหนดอนาคตการพัฒนา” ถ้าผลสรุปออกมาลักษณะบิดเบือนด้วยการศึกษาไม่ครอบคลุม “สาธารณชนย่อมไม่ยอมรับ” ผลคือไม่มีข้อยุติ นำมาซึ่งการประท้วงคัดค้านไม่จบสิ้น
สุดท้ายผลกระทบก็มาตกอยู่ที่ “นักลงทุนซื้อที่ดินเตรียมการลงทุนไว้” ไม่อาจวางแผนได้ กลายเป็นเสียโอกาสเปล่าประโยชน์แล้วด้วย “คนจะนะก็ไม่ได้คัดค้านอุตสาหกรรม” แต่ควรต้องเป็นอุตสาหกรรมขนาดเบาสอดคล้องกับวิถีชุมชน สามารถต่อยอดพื้นฐานทรัพยากรมีอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันนี้ที่ต้องไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก
เน้นย้ำว่า “คนจะนะพร้อมยอมรับกระบวนการ SEA ถูกต้องเป็นธรรม” ด้วยการทำอย่างมืออาชีพ ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือผู้มีส่วนได้เสียนั้น ในส่วน “คนจะนะ” ก็จะยังคงเฝ้าติดตามสร้างความเข้มแข็งในชุมชนพร้อมร่วมมือองค์กรเครือข่ายที่ไม่อยากเห็นการพัฒนาแบบคอนกรีตเข้ามาทำลายวิถีชีวิตคนท้องถิ่น
ฝากไว้ว่า “คนชนบทนั้นคุยง่าย” ขอมีความจริงใจแค่ “สภาพัฒน์” พูดคุยแบบกันเองกับชาวบ้านจะนะรักษ์ถิ่นแบบง่ายๆ จริงใจ ตรงไปตรงมา อันเป็นการช่วยลดช่องว่างกระบวนการ SEA ก็จะสามารถกำหนดอนาคตในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และขจัดความขัดแย้งนั้นได้ตามมา.