มติ ครม.เมื่อวันอังคารที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมามีเรื่องราวที่น่ายินดีสำหรับชาวภูเก็ตประการหนึ่ง นั่นคือการอนุมัติในหลักการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขดำเนิน โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยใช้ที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 141-2-64 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2569 ทั้งสิ้น 1,411.70 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีสาระสำคัญของโครงการฯสรุปได้ดังนี้
วัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็น ศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์มูลค่าสูงเชื่อมโยงการท่องเที่ยวนานาชาติ ที่มีมูลค่าทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับโลก ภายใต้โครงการ Phuket Sandbox (2) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตและประเทศ โดยส่งเสริมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น (3) เพื่อ สร้างโอกาสในการลงทุน หลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) (4) เพื่อเพิ่ม การจ้างงานและลดอัตราการว่างงาน ให้กับประชาชนในพื้นที่หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 (5) เพื่อเสริมสร้าง ความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี วิทยาการทางการแพทย์ และระบบบริการทางการแพทย์รองรับการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติ ที่ทันสมัยที่มุ่งเน้นยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่เวทีโลก (6) เพื่อรองรับการจัดงาน EXPO 2028-Phuket, Thailand ในปี 2571
การดำเนินการ/กิจกรรม ดำเนินโครงการโดยจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย (1) ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร (International Health/ Medical Plaza) (2) ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) (3) ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Care) 2 (4) ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center)
...
รูปแบบการบริหารจัดการโครงการ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจ้งว่าอยู่ระหว่างการหารือ โดยมี 5 รูปแบบ ได้แก่ (1) ภาครัฐดำเนินการเอง (2) รูปแบบพิเศษ (3) โรงพยาบาลกึ่งรัฐกึ่งเอกชน (4) องค์กรมหาชน และ (5) ภาครัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน
ส่วนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) จำเป็นต้องจัดทำรายงาน EIA3 โดย สป.สธ.แจ้งว่าจะดำเนินการหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการจัดสรรงบประมาณให้ สธ.แล้ว
หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ นี้คือกระทรวงสาธารณสุขโดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งถ้าจะระบุตัวตนคนที่ทุ่มเทกับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นคือ นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตคนก่อนและ นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตคนปัจจุบัน รวมทั้ง นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตคนปัจจุบัน และ นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตคนก่อนหน้านี้
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก นายภัคพงษ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคนก่อนหน้านี้ที่พยายามผลักดันทุกทาง และ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคนปัจจุบัน ที่ย้ายมาแทนก็รับงานสานต่อโครงการได้อย่างดีเยี่ยม
คนภูเก็ตคงไม่ลืมคุณงามความดีของข้าราชการที่เป็นคนต่างถิ่นแต่เมื่อมาอยู่แล้วก็อุทิศตัวเพื่อภูเก็ตอย่างเต็มที่เช่นนี้.
“ซี.12”
c12thongchai@gmail.com