สรุปผลการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับผู้เห็นต่างจากรัฐแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 3 เห็นพ้อง การลดความรุนแรงในพื้นที่ การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.65 ที่บริเวณชายหาดโรงแรมเลอ เมอริเดียน ภูเก็ต บีชรีสอร์ท ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้พร้อมด้วย พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาค 4 และคณะแถลงผลความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังจากได้เดินทางไปพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-13 มกราคม 2565 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง



พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า จากการเดินทางไปพูดคุยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียกับฝ่ายของ BRN นำโดย อุสตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน และมีผู้อำนวยความสะดวก คือ ตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญ 2 คนร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย มีท่าทีที่มีมิตรไมตรีต่อกัน ซึ่งในห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ประสบปัญหาในเรื่องของการเดินทางข้ามพรมแดน และการประชุมหารือกันชะงักหรือชะลอไป แต่ด้วยความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่าย รวมถึงผู้อำนวยความสะดวกที่ต้องการเห็นการพูดคุยมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องได้พยายามสานต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อนำไปสู่ความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามความคาดหวังของประชาชน ทั้งการพูดคุยผ่านออนไลน์และช่องทางต่างๆ จนสามารถผลักดันให้เกิดการพูดคุยได้จริง เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

...

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กล่าวต่อว่า สำหรับผลสรุปในการหารือกันนั้น ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและถกแถลงหลักการที่จะยึดถือ ในการพูดคุยสารัตถะในระยะต่อไป มีด้วยกัน 3 เรื่องหลัก คือ ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยหารือและเห็นพ้องกันในเรื่องของหลักการทั่วไปของกรอบประเด็นสารัตถะ ได้แก่ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง เป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยอยากเห็นความสงบสุขในพื้นที่ การใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในพื้นที่ และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งอยากเห็นการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของปัญหา อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนอย่างสันติสุขอย่างถาวรต่อไป ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการก้าวข้ามในเรื่องของงานธุรการต่างๆ และการบริหารจัดการต่างๆ ก้าวข้ามไปสู่การเริ่มต้นของกระบวนการพูดคุยในประเด็นสารัตถะในระยะต่อไป

พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า ประเด็นถัดมา คือ ทั้งสองฝ่ายได้เสนอการจัดตั้งกลไกเพื่อมาขับเคลื่อนสำหรับการพูดคุยสารัตถะทั้ง 3 เรื่อง โดยมีการพิจารณาที่จะจัดตั้งบุคคลผู้ประสานงาน และคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง คือ การลดความรุนแรงและการเข้ามาปรึกษาหารือในพื้นที่ ซึ่งรายละเอียดและความซับซ้อนของปัญหามีไม่มาก ส่วนประเด็นในการแสวงหาทางออกทางการเมืองนั้น เนื่องจากมีความสลับซับซ้อนและมีความละเอียดของปัญหาค่อนข้างมาก ในการดำเนินการนั้นจะจัดตั้งในลักษณะจอยส์สตาร์ทตี้กรุ๊ป เพื่อศึกษารายละเอียดและความเหมาะสมและหนทางที่เป็นไปได้ โดยการจัดตั้งนั้นจะมีลักษณะกึ่งทางการ มีการพบปะหารือได้โดยตรงต่อกัน ทั้งนี้เพื่อกำจัดจุดอ่อนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากการประชุมอย่างเป็นทางการทำได้ค่อนข้างยาก เพื่อผลักดันให้การพูดคุยประเด็นสารัตถะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัว และเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข กล่าวอีกว่า ส่วนในประเด็นที่ 3 ซึ่งทางฝ่ายไทยหยิบยกขึ้นมา คือ ทั้งสองฝ่ายพยายามลดกิจกรรมในเรื่องของความรุนแรงลง โดยต่างฝ่ายต่างคนต่างทำตามความสมัครใจ เนื่องจากต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพูดคุยในครั้งต่อไป รวมทั้งต้องการให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการพูดคุยที่ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ จึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งทั้งคณะพูดคุยและกองทัพภาคที่ 4 ได้มีการเตรียมการไว้บางส่วนแล้ว

...

สำหรับการพูดคุยกันในครั้งต่อไป ซึ่งได้มีการหารือกันในที่ประชุม คาดว่าจะมีการประชุมกัน 2-3 ครั้งต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทางคณะพูดคุยได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนผลักดันให้กระบวนการพูดคุย เป็นหนทางในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป และคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มผู้เห็นต่างที่นอกเหนือจากกระบวนการ BRN และภาคส่วนของประชาชนในพื้นที่ เพราะเราต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาแสวงหาทางออกร่วมกันต่อไป.