สถานการณ์คลี่คลายลงด้วยดี เมื่อ “ครม.เสียงอ่อนรับข้อเสนอเครือข่าย จะนะรักษ์ถิ่น” ในการหยุดเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตไว้ก่อนแล้ว จัดทำประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อให้มีข้อมูลสมบูรณ์ครบถ้วนรอบด้าน นำมาประกอบการพิจารณา โครงการอีกครั้ง
อันเป็นทางออกของความขัดแย้งนี้ทำให้ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ปักหลักอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องคัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะมา 10 วัน ได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ “ยุติการชุมนุมกลับภูมิลำเนา” ใช้ชีวิต ปกติต่อไป รุ่งเรือง ระหมันยะ หรือบังนี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายกลุ่ม จะนะรักษ์ถิ่น เล่าว่า รู้สึกดีใจสามารถปกป้องแผ่นดินบ้านเกิด และทะเลจะนะ ครั้งนี้ประสบผลสำเร็จได้ เบื้องต้นคงกลับบ้านใช้ชีวิตสู่ท้องทะเลจะนะจับปลา เลี้ยงชีพ ต่อไปแล้วก็คงเฝ้าติดตาม “รัฐบาล” จะปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่
ตามที่ “ครม.” รับข้อเสนอสำคัญๆ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องหยุด ดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะทั้งหมดก่อนแล้ว “จัดทำ SEA ใหม่” ที่มีตัวแทนจากภาคประชาชน นักวิชาการเข้าร่วมวางกรอบการ ศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ศักยภาพทรัพยากร และพัฒนาต่อยอดทรัพยากรของท้องถิ่น
...
ส่วนข้อเรียกร้องยกเลิกมติ ครม.ขยายโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 และวันที่ 21 ม.ค.2563 และยกเลิกมติอนุมันติเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท พัฒนาโครงการนี้ “มิอาจยกเลิกได้” เพราะขัดต่อกฎหมาย
ดังนั้น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมจะนะ” คงมีอยู่เหมือนเดิมเพียงแต่ว่า “จัดทำ SEA ใหม่” ในการประเมินผลดีผลเสียเชิงยุทธศาสตร์เกือบทั้ง จ.สงขลา สาเหตุเพราะแม้ว่า “ใช้ชื่ออุตสาหกรรมจะนะก็จริง” แต่กินพื้นที่กว่า 1.6 หมื่น กว่าไร่ ทั้ง อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย ที่อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ย้ำต่อว่า “พื้นที่ 4 อำเภอนี้เป็นต้นน้ำหลัก” แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ จาก “ระบบนิเวศ” ที่เป็นแบบทะเลตม ป่าชายเลน จากการไหลเวียนน้ำแบบผสมผสาน ระหว่างน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย มีปากแม่น้ำไหลลงทะเล “เกิดตะกอน” กลายเป็นแหล่งอาหารที่วางไข่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ เช่น หอย ปลาทู ปลากุเลามากมาย...
สัญลักษณ์อันเป็นตัวบ่งชี้แสดงถึงแหล่งอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ “สาหร่ายผมนาง และหญ้าทะเล” โดยเฉพาะ “หญ้าอำพัน” ที่พะยูนชอบกินแล้วเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใกล้สูญพันธุ์เหลือน้อยมากทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน แต่กลับสามารถพบฝูงพะยูนวนเวียนมาหากินในเขตทะเลจะนะเป็นประจำอยู่ทุกปี
ทว่าความสำคัญเรื่องนี้กลับ “ไม่ถูกเสนอในรายงานเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมฯ” แล้วก็เชื่อว่า “ประชาชนใน อ.เทพา อ.นาทวี อ.สะบ้าย้อย” ก็ไม่ทราบข้อมูลผลกระทบถ้าหาก “นิคมอุตสาหกรรมจะนะเกิดขึ้นมาจริง” ฉะนั้นแล้ว “การจัดทำ SEA ใหม่” จำเป็นต้องศึกษาประเมินผลในพื้นที่อำเภอใกล้เคียงด้วยเช่นกัน
ตอกย้ำด้วยตัวอย่างมลพิษจาก “นิคมอุตสาหกรรมตั้งในพื้นที่ใด” ก็มีประเด็นผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเป็นวงกว้างอยู่เสมอ โดยเฉพาะ “การลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ” แล้วมักค้นหาตัวโรงงานผู้ก่อมลพิษไม่ได้สักครั้ง สาเหตุจาก “หน่วยงานภาครัฐ” ไม่สนใจเข้ามาตรวจสอบเพื่อ แสวงหาตัวผู้รับผิดชอบจริงจัง...
จริงๆแล้วปัญหานี้ “อ.จะนะมีโรงงานขนาดเล็ก 148 แห่ง” บางแห่ง มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียช่วงน้ำหลากลงป่าพรุเหมือนกัน แต่ไม่เคยมีใครตั้งคณะกรรมการตรวจสอบต้นเหตุ...
สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านเสมอ
...
สะท้อนให้เห็นว่า “โรงงานขนาดเล็กตั้งอยู่เขตจะนะ” มีการก่อมลพิษนี้ “หน่วยงานภาครัฐ” ยังไม่สามารถจัดการได้จนลักลอบทิ้งน้ำเสียลงป่าพรุ ทำลายสัตว์น้ำตายเกลื่อนประจำ แล้วก่อนหน้านี้ “นักวิชาการ” เข้ามาตรวจ สภาพอากาศพื้นที่เขต อ.จะนะ พบว่าระดับความบริสุทธิ์อากาศต่ำกว่า อ.เทพา ด้วยซ้ำ
เรื่องนี้ทำให้รู้สึกกังวลเป็นห่วง “โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะตั้งต้นเขตพื้นที่ไว้ 1.6 หมื่นกว่าไร่” ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมใหญ่สุดของภาคใต้ ที่เชื่อว่าในอนาคตก็ค่อยๆขยายออกไปเรื่อยจนเต็มพื้นที่ อ.จะนะ อย่างเช่น “ครั้งตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยองไว้ 3 พันไร่” ก็ขยับขยายออกเป็นกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น
แล้วเปลี่ยนพื้นที่ก่อมลพิษกระทบผู้อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น กรณี “ครอบครัวลุงน้อยที่เป็นโรคมะเร็งทั้งบ้าน” ปัจจุบันลูกและภรรยาเสียชีวิต คงเหลือแต่ “ลุงน้อย” ที่โรคมะเร็งกำเริบหนักขึ้นทุกวัน
ไม่เท่านั้น “โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ยังจะมีท่าเรือน้ำลึก 3 ท่า แต่ด้วยเขต อ.จะนะ เป็นหาดน้ำตื้นต้องทำท่ายื่นจากฝั่ง 1 กม. แล้วขุดร่องน้ำจาก 13 กม.จากฝั่งให้ลึก 16 เมตร จนถึงบริเวณท่าเทียบเรือ
...
แน่นอนว่า “การมาของท่าเรือ 3 ท่า” ย่อมกระทบต่อสัตว์ทะเลหนีไป จาก “เรือวิ่งเข้าออกตลอดเวลา” สุดท้ายปลาที่เคยจับได้ก็หมดไป “โอกาสการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน” ก็จะหายตามไปด้วย...นับแต่มีข่าว “นิคมอุตสาหกรรมจะมาตั้งที่ อ.จะนะ” ราคาที่ดินปรับสูงขึ้นไร่ละ 4-5 แสนบาท จากเดิมเมื่อ 20 ปีก่อนครั้งมีแผนก่อสร้างโรงแยกก๊าซ “นายทุน” เคยมากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านราคา 2 หมื่นบาท/ไร่
ฉะนั้นแม้มติ ครม.เห็นชอบหยุดโครงนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อน แล้วจัดทำ SEA ใหม่ แต่เราก็ยังทำงานในพื้นที่ปกป้องแผ่นดินและท้องทะเล ที่อุดมสมบูรณ์ในเขตจะนะที่บรรพบุรุษปกป้องส่งมอบแหล่งอาหารสำคัญไว้ เพื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยโครงการสร้างมลพิษบ่อนทำลายวิถีชีวิตชาวบ้านที่ปักหลักสร้างชุมชนมาอย่างยาวนานนี้...
“บังนี” บอกอีกว่า คนจะนะอาศัยอยู่ร่วมกันแบบ 2 วัฒนธรรม คือ วัฒนธรรม ไทยพุทธ และวัฒนธรรมอิสลาม แล้วอาชีพก็เป็นแบบสมผสานคือหลักๆเป็น “การประมง” มีทั้งเรือเล็ก เรือกลาง และเรือใหญ่ใน 3 ตำบล ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม ที่เคยสำรวจชาวบ้านมีรายได้มีเงินหมุนเวียนราว 300 ล้านบาทต่อปี
ทั้งยังมี “ทำการเกษตร” ด้วยสภาพพื้นที่เป็นดินปนทรายเหมาะกับ “การปลูกแตงโม” ที่ทำกันมายาวนานแล้วบางส่วนก็ “ปลูกข้าวลูกปลา” ลักษณะเป็นข้าวเมล็ดสั้นคล้ายข้าวญี่ปุ่น แล้วเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษสามารถสร้างรายได้ “หล่อเลี้ยงชีวิต” แต่ละครัวเรือนอีกด้วย
...
ประการต่อมา “อ.จะนะ เป็นแหล่งเลี้ยงนกเขาชวา ทุกครัวเรือนต้องมีกรงนกแขวนหน้าบ้าน” อันเป็นวิถีชีวิตเคียงคู่คนใต้มายาวนานแล้ว “อาชีพควบคู่กันนั้นก็คือ อาชีพทำกรงนก” โดยเฉพาะ ต.สะกอม เป็นแหล่งทำกรงนกที่มีชื่อเสียงตั้งแต่โบราณโดยนำภูมิปัญญาศิลปะท้องถิ่นสร้างรายได้อย่างดีไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท/ปี...สิ่งเหล่านี้เป็น “วิถีชีวิตชุมชนคนจะนะที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติ”
...เป็นภูมิปัญญาควรอนุรักษ์ไว้แล้ว “ทะเลแห่งนี้ก็เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศ” สังเกตจากในช่วงโควิด-19 ระบาดอันส่งผลกระทบให้ผู้คนตกงานขาดแคลนอาหารประทังชีวิตมากมาย แต่สำหรับ “คนจะนะ” สามารถทำมาหากินได้เหลือเฟือด้วยซ้ำ
จนต้องแบ่งวัตถุดิบของสด เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ผักสวนครัวให้ผู้คนเดือดร้อน ใน จ.สงขลา ทั้งนำปรุงสุกเป็นอาหารให้แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยโควิด ใน รพ.จะนะ ฉะนั้นอนาคตไม่มีใครล่วงรู้เหตุการณ์ได้ว่า “ภัยพิบัติใด จะเกิดขึ้น” จึงควรต้องหวงแหนแผ่นดิน และทะเลจะนะ ที่มีความสมบูรณ์ไว้ เป็นอาหารให้คนทั้งประเทศต่อไป...
“โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ควรต้องตั้ง ในพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมไม่สามารถฟื้นฟูใดๆได้ หรือไม่อาจเป็นแหล่งผลิตอาหารอีกแล้ว เช่นนี้เราจะต่อสู้ไม่ยอมให้อุตสาหกรรมที่อาจก่อมลพิษร้ายแรงเข้ามาทำลายฐานทรัพยากรมีค่าอยู่คู่กับคนจะนะมาตั้งแต่บรรพบุรุษส่งต่อมาถึงรุ่นปัจจุบันนี้
หนำซ้ำยังมีความหลากหลายแห่งวัฒนธรรมไทยพุทธ ไทยอิสลาม สามารถอยู่ร่วมกันของชุมชนด้วยความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกัน และกันอย่างสงบสุขมาตลอด สิ่งที่พี่น้องจะนะทำอยู่นี้ก็ “เพื่อปกป้องบ้านและสิ่งแวดล้อมอันมีคุณค่า” ไม่ต้องการให้ถูกทำลายโดยโครงการอาจก่อมลพิษเข้ามาทำลายวิถีชีวิตของผู้คน
เช่นนี้การถอยคนละก้าว “การจัดทำ SEA ใหม่” เป็นทางออกดีที่สุดแล้ว เพื่อลดความขัดแย้งคนในชุมชนนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ร่วมกัน อย่างผาสุกต่อไป...