เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน กลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมโลกในปัจจุบัน กรณีเทียบเคียง โครงการนำร่องอุตสาหกรรม จะนะ จ.สงขลา หรือ ล่าสุด ที่ชาวบ้านจาก นาบอน จ.นครศรีธรรมราช มาปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเรียกร้องให้ทบทวน โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล กระทบไปถึง รัฐบาลและผู้บังคับบัญชาในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรณีศึกษาถึงข้อดีข้อเสียจากข้อเรียกร้องเกี่ยวกับ ผลกระทบจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมและข้อกฎหมาย ที่จะตามมาอีกบานตะไท

และในที่สุดก็จะเป็น ข้อขัดแย้งทางกฎหมาย และแนวทางการแก้ปัญหาจะถึงทางตัน ดังจะยกตัวอย่าง ผลคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุด เรื่องการประมูล โครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ขนาดกำลังการผลิต 5,300 เมกะวัตต์ ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งทำหนังสือชี้แจงไปยัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยบริษัทที่ดำเนินการคือ อินดิเพนเเดนท์ เพาเวอร์ ที่ กัลฟ์ ถือหุ้นอยู่ ร้อยละ 70 เข้าร่วมประมูลคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้า ประจำปี 2555 และ เป็นผู้ชนะการประมูล ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จนกระทั่งปี 2557 คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ได้มีมติให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เข้าตรวจสอบการประมูลโครงการ เนื่องจากมีการร้องเรียนว่าขั้นตอนการประมูลคัดเลือกไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าตามระเบียบของ กกพ. และต่อมา คตร. ได้ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบและมอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน ตรวจสอบเพิ่มเติม มีการตั้งกรรมการและเชิญบริษัทเอกชนเข้าประชุมเจรจา ขอให้ยกเลิกโครงการที่ชนะการประมูลและลงนามการซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. แล้วด้วย

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือไปถึง บีโอไอ ให้ชะลอการสนับสนุนการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าที่ชนะการประมูลทั้ง 2 โครงการ โดยเหตุการณ์ยืดเยื้อมาจนถึงปี 2558 บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลได้ยื่นฟ้อง กกพ. กระทรวงพลังงาน และ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อ ศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่ามีบุคคลในคณะทำงานที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบครั้งนี้ด้วย

...

จนกระทั่งปี 2559 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ผู้ถูกฟ้องคดี มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบทางกฎหมาย แต่ได้กระทำนอกเหนือเกินขอบเขตอำนาจในการใช้ผลการตรวจสอบดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย และให้กระทรวงพลังงานแจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปถึง บีโอไอ ในการลดการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2560 กระทรวงพลังงาน ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง อ้างว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้กระทำการละเมิดผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องได้ยื่นแก้คำอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิ.ย.2560 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาว่าการกระทำของกระทรวงพลังงานเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องได้รับความเสียหายจึงให้ยกเลิกคำสั่งการตรวจสอบของกระทรวงพลังงานและให้ถือว่าคำพิพากษาของ ศาลปกครองสูงสุด เป็นที่สุด

บริบทความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน จนเกิดความเสียหายชัดเจน ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นภาพรวมของประเทศทั้งสิ่งแวดล้อมและการลงทุนเป็นกรณีศึกษาที่รัฐจะต้องรับผิดชอบ และรอบคอบกว่านี้.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th