แม้ใครหลายคนจะมองว่าสหกรณ์ในประเทศไทยมีปัญหามากมายก็ตาม แต่ถึงอย่างไรสหกรณ์ภาคการเกษตรที่มีถึง 4,292 แห่ง มีสมาชิกรวมกันถึง 6 ล้านคน ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในระดับฐานรากที่ไม่อาจมองข้ามได้
ถ้าภาครัฐ นักการเมือง รู้จักให้ความสำคัญ ใช้สหกรณ์เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการพัฒนาภาคเกษตรอย่างจริงจัง ไม่ใช่สักแต่เขียนไว้สวยหรูในรัฐธรรมนูญ สหกรณ์จะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้ดีที่สุด...ดีกว่าใช้กลไกระบบราชการเสียอีก

เพราะสหกรณ์จะรู้ปัญหาในพื้นที่ดีกว่าระบบราชการ ที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง การแก้ปัญหามักใช้แนวทางแบบเหมารวม ทำเหมือนกันทั้งประเทศ ทั้งที่แต่ละพื้นที่ปัญหาไม่เหมือนกัน

...

ดูตัวอย่างได้จาก สหกรณ์การเกษตรสะบ้าย้อย จำกัด อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่สามารถแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ล้นตลาดได้สำเร็จ ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อสุขภาพ... น้ำส้มแขกพร้อมดื่ม ไม่มีส่วนผสมของวัตถุกันเสีย ไม่เติมสี หรือกลิ่นสังเคราะห์ ที่มีสรรพคุณช่วยลดไขมัน ดักจับไขมัน และเป็นยาระบาย

“ส้มแขกถือเป็นพืชอัตลักษณ์ของอำเภอสะบ้าย้อย ที่มีการปลูกส้มแขกกันมากประมาณ 10,000 ต้น เรียกว่าปลูกกันทุกหลังคาเรือน เดิมชาวบ้านจะปลูกขายเป็นผลส้มแขกสดให้พ่อค้าจะได้ราคา กก.ละ 3-5 บาท แต่ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ของทุกปี ผลผลิตส้มแขกจะมีออกมาก จนพ่อค้ารับซื้อได้ไม่หมด ชาวบ้านไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน ทางสหกรณ์เลยจัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพขึ้นมา แรกๆเราส่งเสริมจัดอบรมให้ชาวบ้านนำส้มแขกมาแปรรูปเป็นน้ำส้มแขกพร้อมดื่มนี่แหละ เพราะเรารู้ข้อมูลงานวิจัยที่เผย แพร่ในอินเตอร์เน็ตอยู่แล้วว่าส้มแขกมีประโยชน์อะไรบ้าง แต่ตอนนั้นเราคิดทำแค่เพื่อต้องการให้ชาวบ้านได้รวมกลุ่มทำกันเอง ปรากฏว่าไปไม่รอด ชาวบ้านไม่มีศักยภาพพอที่จะทำให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เก็บได้ไม่นาน เน่าเสียเร็ว ทางสหกรณ์เลยต้องคิดทำแปรรูปเอง”

นายประยงค์ รักทองอิน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสะบ้าย้อย จำกัด เล่าถึงความเป็นมาของการแปรรูปส้มแขกของสหกรณ์เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้เกษตรกร...เมื่อสหกรณ์ลงมือทำเอง ได้มีการทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการคิดค้นหากระบวนการผลิตที่ได้ส่วนผสมน้ำส้มแขกพร้อมดื่มที่ลงตัว ได้ทั้งรสชาติ ความสะอาด ปลอดภัย เก็บได้นานเป็นปี และได้มาตรฐาน อย.
จนออกมาเป็นน้ำส้มแขกตราโคออฟ กรีน บรรจุขวดขนาด 180 ซีซี จำหน่ายในราคาขวดละ 25 บาท

...

“กระบวนการผลิตของเราเริ่มตั้งแต่คัดคุณภาพของส้มแขกสดที่ได้จากชาวบ้าน นำมาหั่นเป็นชิ้นแล้วนำไปตากแห้งในโดมพาราโบลาจนแห้งสนิท จากนั้นนำไปเก็บในภาชนะปิดสนิท บ่มต่อไปอีก 1 ปีในอุณหภูมิห้องปกติ ถึงจะนำออกมาผลิตเป็นน้ำส้มแขกพร้อมดื่มได้”
ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสะบ้าย้อยบอกว่า ผลจากการนำส้มแขกมาแปรรูปด้วยวิธีนี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดให้กับชาวบ้านได้แล้ว ยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายส้มแขกเพิ่มขึ้นอีกต้นละ 4,000 บาท

นอกจากนั้น สหกรณ์ยังมีแผนแปรรูปต่อยอดขึ้นไปอีก...ในอนาคตอันใกล้จะมีสบู่ส้มแขกช่วยให้ผิวกระจ่างใส และตามด้วยชาส้มแขก สนใจอุดหนุนติดต่อได้ที่ 08-9599-9203 หรือ Facebook Page : สหกรณ์การเกษตร สะบ้าย้อย จำกัด

ชาติชาย ศิริพัฒน์