สสจ.นครศรีธรรมราช สั่งทุก รพ. ห้ามใช้ชุดตรวจ ATK เล่อปู๋ กับกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง หลังพบผลตรวจมีความเบี่ยงเบนสูง ผลบวกลวงครึ่งต่อครึ่ง
สสจ.นครศรีธรรมราช เปิดแถลง เผยสั่งการห้ามทุกโรงพยาบาลใช้ชุด Antigen test kit (ATK) ยี่ห้อ เล่อปู๋ (Lepu) กับกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ โควิด-19 หลังจากพบว่ามีสัดส่วนความผิดพลาดการตรวจเชื้อสูงมาก เน้นใช้เครื่องมือระดับโปรเท่านั้น ส่วนที่ได้รับแจกจ่ายมานั้นให้ใช้สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำหรือประชาชนที่อยากตรวจ เผยได้รับแจกจ่ายจาก สป.สช.ส่งทุกโรงพยาบาลในจังหวัดรวม 9 หมื่นชุด
วันที่ 5 ตุลาคม ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง โดยยังพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการติดเชื้อและถูกสั่งคุมพื้นที่เป็นพิเศษกว่า 20 ชุมชน ใน อ.ท่าศาลา อ.ทุ่งสง โดยในวันนี้พบการติดเชื้อเพิ่มอีก 257 ราย มีการติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 18,000 ราย รักษาตัวในรพ.หลักในทุกอำเภอ รวมทั้ง รพ.สนามรวมกว่า 4 พันราย รักษาหายแล้วกว่า 13,000 ราย เสียชีวิตกว่า 100 ราย
โดยเจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติการค้นหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง เพื่อการควบคุมเชื้อตามหลักการระบาดวิทยา ซึ่งมีรายงานที่น่าตกใจหลังจากพบว่า เจ้าหน้าที่ได้นำ ชุด Antigen test kit (ATK) ยี่ห้อ เล่อปู๋ (Lepu) ซึ่งได้รับการจัดสรรจาก สปสช. มาใช้ตรวจหาเชื้อเบื้องต้น ในการปฏิบัติการเชิงรุก พบผลมีความเบี่ยงเบนสูงมาก ทั้งการติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ
นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช แถลงว่า ขณะนี้ได้สั่งห้ามทุกโรงพยาบาลในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช งดใช้ชุดตรวจชนิดนี้หลังพบว่า การตรวจสอบมาตรฐานระบุว่ามีการติดเชื้อ แต่ชุดตรวจชนิดนี้ระบุไม่ติดเชื้อ โดยพบลักษณะนี้สูงมาก ถือว่าไม่ปลอดภัย หากนำชุดตรวจนี้มาใช้ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่ในส่วนของประชาชนที่อยากตรวจเบื้องต้น ก็อาจทำได้ แต่ในทางการแพทย์นั้นไม่แนะนำ ซึ่งหากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในข่ายต้องตรวจ จะมีชุดตรวจมาตรฐาน ทำให้ทราบผลที่แท้จริง จะทำให้ปลอดภัย
...
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์จรัสพงษ์ ยังยืนยันว่า ATK ชนิดนี้ไม่ได้เป็น ATK ที่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาว่า เอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ATK นี้ใช้กับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ไม่ได้ใช้กับกลุ่มที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่ระบบสาธารณสุขจะต้องเอาตัวมาตรวจด้วยเครื่องมือคุณภาพสูง และไม่ใช่โรงพยาบาล ดังนั้น หากบุคลากรสาธารณสุข จะนำเครื่องมือใดมาใช้ ต้องเป็นเครื่องมือที่เหมาะสม แต่หากประชาชนทั่วไปจะใช้ ยังถือว่าโอเค ไม่ได้มีปัญหาอื่น
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ชี้แจงด้วยว่า มีการนำ ชุด Antigen test kit (ATK) ชนิดนี้ มาตรวจชาวบ้านที่ทุ่งใหญ่จำนวน 1,000 ราย พบติดเชื้อ 187 ราย แต่เมื่อนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR ยืนยันพบผลบวกแค่ 92 รายเท่านั้น ประมาณครึ่งต่อครึ่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีหลายฝ่ายออกมาเรียกร้องการซื้อชุดตรวจ ATK โดยต้องได้มาตรฐาน WHO โดยต่อมาก็มีดราม่า การจัดซื้อชุดตรวจ จำนวน 8.5 ล้านชุด ก่อนที่ คณะกรรมการอาหารและยา จะออกมายืนยัน ว่า ชุดตรวจ ATK ของบริษัท Lepu ได้มาตรฐานผ่านการประเมินผู้เชี่ยวชาญ อย. และสภาเทคนิคการแพทย์ พร้อมเปิดรายงานการทดสอบทางคลินิกจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สรุปได้ว่า ชุดตรวจมีความไวตรวจหาเชื้อเป็นบวกเท่ากับ 90 เปอร์เซนต์ ตรวจจำเพาะเชิงวินิจฉัย ซึ่งหมายความว่า ตรวจคนที่ไม่ติดเชื้อแล้วผลเป็นลบเท่ากับ 100 เปอร์เซนต์ และค่าไม่จำเพาะเท่ากับ 0 เป็นไปตามเกณฑ์พิจารณาของ อย. จึงสามารถอนุมัติให้ใช้ได้