มกอช.ชูกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันตะกั่วป่า ต้นแบบพัฒนาคุณภาพผลผลิตปาล์มน้ำมัน ตามมาตรฐาน GAP สู่การปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ BCG Model

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 64 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะเพื่อการบริโภคและเป็นพลังงานทดแทน ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทย แต่ยังคงประสบกับปัญหาทั้งด้านการผลิต การตลาด การแปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการผลิต เกษตรกรเผชิญกับปัญหาประสิทธิภาพการผลิตต่ำ เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่ดีที่เหมาะสม

ดังนั้น การผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานนั้น จะเป็นการยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพ การคำนึงและรักษาสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติต่อพนักงานและชุมชนด้วยหลักสวัสดิภาพและกฎหมาย ที่ผ่านมา มกอช.ได้มีการประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ทะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ.5702-2552) 2.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับปาล์มน้ำมัน (มกษ.5904-2553) 3.การปฏิบัติที่ดีสำหรับลานเททะลายปาล์มน้ำมัน (มกษ.9037-2555) และ 4.หลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (มกษ.5909-2563) ซึ่งครอบคลุมการจัดการโซ่อุปทานน้ำมันปาล์มให้มีคุณภาพ มาตรฐาน รักษาสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อชุมชน และเกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ การยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรเข้าสู่มาตรฐาน จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติให้มีความรู้ ความเข้าใจข้อกำหนดของมาตรฐาน มีการปรับเปลี่ยนการปฏิบัติในแปลงให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ส่งผลให้มีการพัฒนาในระบบการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทย สินค้าเกษตรมีคุณภาพและมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก

...

ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและผลักดันการนำมาตรฐานไปสู่การปฏิบัติ มกอช.จึงได้ดำเนินโครงการยกระดับเกษตรกรต้นแบบ ตามมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ปี 2564) เป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กลุ่มเกษตรกร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับปาล์มน้ำมัน (GAP) การผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำระบบควบคุมภายใน (ICS) และเตรียมความพร้อมสู่การดำเนินการตามมาตรฐานปาล์มน้ำมันยั่งยืน และระยะที่ 2 (ปี 2565) เป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามมาตรฐานปาล์มน้ำมันยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีเป้าหมาย คือ กลุ่มเกษตรกรมีความพร้อมและได้การรับรองมาตรฐาน หลักการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (มกษ.5909-2563) และสามารถต่อยอดไปสู่การรับรองมาตรฐานปาล์มน้ำมันยั่งยืนตามหลักสากล ในการค้าระหว่างประเทศได้

"อย่างเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันตะกั่วป่า ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของปาล์มคุณภาพ ที่ได้รับมาตรฐาน GAP ตัดเก็บปาล์มที่มีความสุก 100% ส่งตรงสู่โรงงานภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อคงความสดตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งปริมาณผลผลิตที่ได้จำนวนกว่า 600 ตันต่อเดือน ขายได้กิโลกรัมละ 6-7 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร" เลขาธิการ มกอช.กล่าว 

ด้าน น.ส.สุพิชญ์ชญา โชติวัฒน์พงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันตะกั่วป่า กล่าวว่า กลุ่มฯ สมาชิกจำนวน 50 ราย พื้นที่ปลูก 3,000 ไร่ จากเดิมเคยเป็นสวนยางพารา มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกปาล์มคุณภาพ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการ โดยกลุ่มฯ ได้รับการส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP จากหน่วยงานราชการ เช่น มีความสุก 100% มีน้ำหนัก 20 กิโลกรัมขึ้นไป มีความสมบูรณ์ไม่โดนกัดแทะหรือมีรอยช้ำ ทั้งนี้กลุ่มฯ มีการคัดแยกตามคุณภาพ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ คุณภาพระดับดีมาก ปานกลาง และตกเกรด ส่วนที่ตกเกรด จะรวบรวมเพื่อทำเป็นพัสดุเหลือใช้แจกจ่ายกลับไปสู่เกษตรกร

"อยากให้เกษตรกรทุกคนมาร่วมกันขับเคลื่อนผลิตปาล์ม และเก็บปาล์มคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมมาหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัว โดยเฉพาะยามวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมกระบวนการขับเคลื่อนตลาดสินค้าเกษตร ประเภทปาล์มน้ำมันมีทิศทางที่ดีและเติบโตขึ้น" น.ส.สุพิชญ์ชญา กล่าว.