นายอำเภอเทพา ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านจนแจ๊ก ที่เดือดร้อนจากพิษโควิด แต่ไม่มีสิทธิ์รับการเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐ โดยนำข้าวสาร กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และพัดลม ช่วยชาวบ้าน 62 คนตามที่สำรวจไว้
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2564 ที่ อ.เทพา จ.สงขลา นายสิทธิ์ชัย เทพภูษา นายอำเภอเทพา จ.สงขลา สงขลา พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านในกลุ่มที่ยากจนมากหรือว่า "จนแจ๊กๆ" ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเนื่องจากไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนหน้านี้ทางนายอำเภอเทพา ได้มีการออกหนังสือให้เทศบาล และ อบต.สำรวจรวบรวมรายชื่อคนยากจน โดยนิยามเป็นภาษาใต้ว่า "จนแจ๊ก" หมายถึง จนมากจนจริงๆ ไม่มีอะไรจะกิน เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ และตรงเป้าหมาย
โดย นายอำเภอเทพาและทีมงาน ได้นำข้าวสารจำนวน 200 ถุง บรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และพัดลมไปช่วยเหลือชาวบ้านที่จนแจ๊กๆ ในพื้นที่อำเภอเทพา 62 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ นายภาสกร สะเลเม อายุ 50 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเพิงพักในสวนยางพารา โดยใช้ไม้ระแนงไม้และป้ายไวนิลกั้น เป็นที่หลับที่นอนชั่วคราวแทบไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ และอยู่แบบนอนกลางดินกินกลางทราย สร้างความดีใจให้กับ นายภาสกร เป็นอย่างมาก
...
สำหรับนายภาสกร ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีก่อนชีวิตการงานเคยทำงานอยู่ฝ่ายศิลปกรรมของ บริษัทเอ็กแซ็กท์ในเครือแกรมมี่ ทำงานอยู่เกือบ 15 ปี เงินเดือน 5 หมื่นบาท รับผิดชอบด้านโฆษณา เอ็มวี ละคร แต่ได้ลาออกกลับมาทำงานด้านเกษตรที่บ้านเกิดที่ อ.จะนะ จ.สงขลา แต่ไม่ประสบความสำเร็จและเงินเก็บค่อยๆ หมดลงและไม่มีที่ทางเป็นของตัวเอง
สุดท้ายชีวิตพลิกผันตอนนี้ ต้องมาอาศัยสวนยางพาราของเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เป็นครูให้อยู่อาศัยและทำมาหากิน โดยปลูกพืชผักเล็กน้อยๆ รวมทั้งหาหน่อไม้ป่ารวบรวมไปขายอาทิตย์ละวันสองวัน รายได้จากการขายหน่อไม้แต่ละครั้งไม่เกิน 100 บาท แต่ก็พยายามสู้ต่อไป แม้ตอนนี้จะยิ่งลำบากเพราะอยู่ในช่วงโควิด-19
ด้าน นายอำเภอเทพา เปิดเผยว่า จากการรวบรวมรายชื่อคนที่จัดอยู่ในกลุ่ม "จนแจ๊กๆ" ซึ่งหมายถึงคนหาเช้ากินค่ำ คนรับจ้างอาศัยเพิงหมาแหงนหลับนอน ใน อ.เทพา มีอยู่ 62 คน ที่ได้ลงพื้นที่ไปให้การช่วยเหลือแล้ว ส่วนสาเหตุที่ออกหนังสือราชการเป็นภาษาใต้โดยใช้คำว่า "จนแจ๊ก" เพราะต้องการให้เข้าใจกันง่ายๆ และตรงกลุ่มเป้าหมาย.