นักวิจัย มวล.คิดสูตรอาหารเลี้ยงด้วงสาคูให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น ทั้งโปรตีน แร่ธาตุ กรดอะมิโนจำเป็น และกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงกว่าน้ำมันปลา เพิ่มมูลค่าและศักยภาพเชิงพาณิชย์ของแมลงกินได้

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ พันพิพัฒน์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ในฐานะหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร มวล. เปิดเผยว่า ตนและทีมนักวิจัย ประกอบด้วย นางสาวขนิษฐา จินารักษ์ รองศาสตราจารย์ ดร.มนัส ชัยจันทร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจักษณ์ สัมพันธ์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีฯ ได้มีการร่วมวิจัยศึกษาคุณค่าทางโภชนาการของด้วงสาคู (Sago palm weevil larvae) ที่เพาะเลี้ยงในระบบฟาร์มในเขต 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และยะลา ซึ่งพบว่าด้วงสาคูจากทั้ง 3 แหล่ง มีไขมันและโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมีไขมันร้อยละ 52.4-60.1 และโปรตีนร้อยละ 18.0-28.5 นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โซเดียม แคลเซียม สังกะสี ทองแดง แมงกานีส และเหล็ก โดยที่ปริมาณสารอาหารในด้วงสาคูจะแตกต่างกันในแต่ละฟาร์ม ขึ้นอยู่กับสูตรอาหารและวิธีการเลี้ยงด้วงสาคูเป็นสำคัญ

...

หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร มวล. กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาคุณภาพของโปรตีนในด้วงสาคูที่ผ่านการเพาะเลี้ยง พบว่ามีปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นต่ำกว่าโปรตีนอ้างอิงที่กำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งมีกรดไขมันจำเป็นในปริมาณต่ำ และมีสัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 6/โอเมก้า 3 ที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ จากความรู้ดังกล่าวนำมาสู่การศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อคิดค้นสูตรอาหารที่สามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของด้วงสาคูให้สูงขึ้น รวมทั้งสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของแมลงดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเชิงพาณิชย์ของแมลงกินได้ของภาคใต้ชนิดนี้ โดยทำการศึกษาครอบคลุมการเพิ่มปริมาณสารอาหารทั้งหมด และมุ่งเน้นการเพิ่มกรดไขมันจำเป็นโอเมก้า 3 ให้ใกล้เคียงกับน้ำมันปลา เนื่องจากด้วงสาคูมีไขมันเป็นองค์ประกอบสูง และมีวงจรชีวิตสั้นกว่าปลาทะเลน้ำลึกมาก รวมทั้งศึกษาการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ไขมัน เพื่อให้เข้าใจกลไกเชิงลึกในระบบเมทาบอลิซึมของด้วงสาคู


สูตรอาหารที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ สามารถเพาะเลี้ยงด้วงสาคูได้ขนาดตัวหนอนที่โตและมีน้ำหนักมากกว่าการเลี้ยงด้วยสูตรอาหารแบบดั้งเดิม โดยสามารถลดระยะเวลาการเลี้ยงด้วงสาคูให้สั้นลงอย่างน้อย 10 วัน โดยที่ด้วงสาคูมีคุณค่าทางโภชการสูงกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารสูตรดั้งเดิมอย่างมาก ทั้งนี้สามารถเพิ่มปริมาณโปรตีนให้สูงขึ้นถึงร้อยละ 40-92 โดยเป็นโปรตีนคุณภาพสูง เนื่องจากประกอบด้วย กรดอะมิโนจำเป็นครบทั้ง 9 ชนิด และยังมีปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 12-48 เมื่อเปรียบเทียบกับโปรตีนมาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติแล้ว พบว่าปริมาณกรดอะมิโนจำเป็นของด้วงสาคูที่ผ่านการเลี้ยงด้วยสูตรอาหารชนิดใหม่นี้ มีค่าสูงกว่าโปรตีนอ้างอิงถึง 1-1.5 เท่า ดังนั้นด้วงสาคูจึงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพสูง

...

ในด้านคุณภาพของไขมันนั้น ด้วงสาคูที่ผ่านการเลี้ยงด้วยอาหารสูตรใหม่ มีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารสูตรดั้งเดิมถึง 10-25 เท่า โดยที่ด้วงสาคูที่ผ่านการเลี้ยงด้วยอาหารสูตรใหม่มีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 สูงกว่าน้ำมันปลาถึง 1.24 เท่า อีกทั้งมีสัดส่วนของกรดไขมันโอเมก้า 6/โอเมก้า 3 ต่ำกว่า 4/1 ซึ่งบ่งชี้ถึงไขมันที่มีผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ด้วงสาคูที่เลี้ยงด้วยอาหารสูตรใหม่ ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ได้แก่ โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โซเดียม แคลเซียม และสังกะสี ซึ่งแร่ธาตุดังกล่าวมีปริมาณสูงกว่าแร่ธาตุที่พบในไข่ไก่

...

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ กล่าวด้วยว่า ผลการวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ของด้วงสาคู เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารทางเลือกในอนาคตที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยเชิงลึกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งส่งผลในการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้คณะผู้วิจัยขอขอบคุณการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ระดับปริญญาเอก.