นักธรณีวิทยาเตรียมลงสำรวจ พื้นที่ปราสาทหินพันยอด จ.สตูล หลังเกิดหินสไลด์ ชี้เป็นการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดรอยแตกจากคลื่น ลม พายุ ยืนยันความเสียหายเป็นแค่หินด้านหน้าเท่านั้น
วันที่ 22 ก.พ.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหารการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา และคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการเฝ้าระวังและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมปรึกษาหารือและทบทวนผลการปฏิบัติงานของเครือข่ายการท่องเที่ยวอ่าวปากบารา หลังเกิดเหตุการณ์หินพังสไลด์บริเวณปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ เขตอุทยานแห่งชาติเภตรา โดยมีปลัด อ.ละงู และเจ้าหน้าที่อุทยานเภตราเข้าร่วมประชุมด้วย ณ ที่ทำการกำนัน ต.ปากน้ำ อ.ละงู มีนายวินัย นุ้ยไฉน กำนัน ต.ปากน้ำ เป็นประธานในการประชุม
...
ข้อสรุปจากที่ประชุมระบุว่า การท่องเที่ยวโดยเครือข่ายชุมชนอ่าวปากบารายังคงเปิดดำเนินการตามปกติ ยกเว้นปราสาทหินพันยอดเพียงจุดเดียวตามหนังสือปิดชั่วคราวของอุทยานฯ แต่จุดอื่นบริเวณเกาะเขาใหญ่ยังท่องเที่ยวได้ตามปกติ ซึ่งการเกิดเหตุการณ์หินสไลด์ดังกล่าว เกิดขึ้นเฉพาะจุดบริเวณใกล้ทางเข้าปราสาทหินพันยอด ซึ่งปราสาทหินฯมีจุดเข้าออกได้ถึง 3 ทาง แต่ในระหว่างรอเจ้าหน้าที่ลงสำรวจเพื่อความปลอดภัยนั้นให้กลุ่มท่องเที่ยวนำนักท่องเที่ยวไปยังจุดอื่นก่อน
เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา โดยในวันที่ 23 ก.พ.64 คณะกรรมการฝ่ายเฝ้าระวังและฟื้นฟู 5 กลุ่ม ร่วมกับปลัด อ.ละงู ผู้ประสานงาน ต.ปากน้ำ ลงพื้นที่ปราสาทหินพันยอดร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4 สุราษฎร์ธานี พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯเภตราจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนบริเวณจุดเกิดเหตุนั้น ขณะนี้ทางอุทยานได้นำเชือกและธงสีแดงปิดบริเวณดังกล่าว เพื่อห้ามไม่ให้คนเข้า-ออกบริเวณดังกล่าว
นายดีนันท์ ณ พัทลุง ประธานรีฟการ์เดี้ยนไทยแลนด์ จ.สตูล กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวปราสาทหินพันยอดเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวเข้าใจว่าหินบริเวณปราสาทถล่มลงมาทั้งหมด ซึ่งความเป็นจริงหินบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอุทยานธรณีโลกที่เป็นหินอายุกว่า 488 ล้านปี เกิดการสไลด์เฉพาะบริเวณหินด้านหน้าเท่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "Climate change" ณ บริเวณด้านหน้าปราสาทหินพันยอด ก่อให้เกิดรอยแตก รอยเลื่อน จากคลื่น ลม พายุ แสงแดด อากาศ
ประธานรีฟการ์เดี้ยนไทยแลนด์ จ.สตูล กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะต้องมีการสำรวจในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopatl) จากนักธรณี เพื่อการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและนักท่องเที่ยว และจะต้องให้ความรู้แก่ จนท. ประชาชน และกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชน ถือเป็นเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่ประชาชนในพื้นที่รับรู้และเป็นคนรุ่นแรกที่ได้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก และจุดดังกล่าวจะเป็นจุดเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในอนาคตต่อไป.
...