กรมเจ้าท่าเดินหน้าพัฒนายกระดับท่าเรือ เพื่อการท่องเที่ยววิถีใหม่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน หวังรองรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เดินหน้าพัฒนายกระดับท่าเรือ เพื่อท่องเที่ยววิถีใหม่หลังโควิด-19 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดแถลงข่าว "การยกระดับท่าเรือ เพื่อการท่องเที่ยววิถีใหม่ฝั่งอันดามัน" ขึ้น มีนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานในพิธี นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า กล่าวรายงาน นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนางปทิตตา ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าร่วมเสวนา
นายสมชาย กล่าวว่า ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลปี 2562
โดยการท่องเที่ยวทางทะเลมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงจึงต้องปรับวิธีใหม่นอกจากสนับสนุนไทยเที่ยวไทย
การสร้างท่าเรือก็มีความสำคัญ โดยกรมเจ้าท่าร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อฟื้นการท่องเที่ยวทางน้ำทางทะเล เป็นการเชื่อมยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือ
นายวรรณชัย กล่าวว่า กรมเจ้าท่ามีภารกิจกำกับดูแลและพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ส่วนหนึ่งคือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการขนส่งทางน้ำของประเทศ เช่น การขุดลอกร่องน้ำ สร้างท่าเทียบเรือ สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ภารกิจดังกล่าวนั้นเป็นการสร้างความพร้อมสนับสนุนแนวทางยุทธศาสตร์ชาติสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำของประเทศให้มีความสามารถแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งทางน้ำให้กับประชาชนในทุกระดับในสังคม ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจของประเทศ
...
ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่า ได้พัฒนาท่าเรือภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาด้านการค้า การขนส่ง และการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ท่าเรือมีมาตรฐาน มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ทันสมัย โดยเฉพาะพัฒนาเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวให้สะดวกปลอดภัย และยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางไปยังจุดท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดต่างๆ เป็นการย่นระยะทางในการเดินทาง ประหยัดเวลาเดินทาง และสร้างเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลแบบองค์รวมสำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดต่างๆ
นายวรรณชัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมเจ้าท่ามีแผนการดำเนินงานในหลายพื้นที่และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น ท่าเรือฝั่งอันดามัน ท่าเรือปากเมง หาดปากเม็ง อ.สิเกา จ.ตรัง เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำสอดพ้องกับความต้องการและตรงตามกลุ่มเป้าหมาย สามารถเชื่อมโยงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการท่องเที่ยววิถีใหม่ ที่มีการท่องเที่ยวแบบเอาต์ดอร์มากขึ้น กรมเจ้าท่าจึงวางแผนเรื่องมาตรการป้องกันปลอดภัย ทั้งในเรื่องท่าเทียบเรือ ร่องน้ำทางเรือเดิน และคูคลองเมืองต่างๆ ที่จะดำเนินการในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้มีความพร้อมดำเนินการเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางน้ำ ยกตัวอย่างการใช้ท่าเรือริมฝั่งเจ้าพระยา จากวันละ 35,000 คนต่อวัน เหลือเพียง 8,000-10,000 คนต่อวัน การพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยววิถีใหม่จะทำให้ท่าเรือไม่ใช่เป็นแค่ท่าเรือ แต่ให้เป็นแลนด์มาร์ก เป็นจุดคนมาเช็กอิน โดยท่าเรือจะต้องปลอดภัย บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีการสอบใบประกาศด้วยในปีหน้า เพื่อความปลอดภัย มีการเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ เรือ รถ ราง และนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น นำระบบเอไอมาใช้ในการควบคุม เป็นต้น
ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า กล่าวอีกว่า ตามแผนพัฒนาท่าเรือ เพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ
กรมเจ้าท่ามีแผนงานการพัฒนาท่าเรือ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ ดังนี้ 1.การปรับปรุงท่าเรือตามแนวฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า 10 แห่ง โดยมุ่งยกระดับท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ มีการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างรถ ราง เรือ สร้างเครือข่ายคมนาคมแบบไร้รอยต่อ ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือราชวงศ์ ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือราชินี ท่าเรือบางโพ ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือพระปิ่นเกล้า และท่าเรือเกียกกาย ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วนักท่องเที่ยวจะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้สะดวกสบายมากขึ้น นอกจากนี้กรมเจ้าท่ายังริเริ่มให้บริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการเดินเรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มทดลองให้บริการแล้วในเดือน ส.ค.2563 ซึ่งมีหลายบริษัทพัฒนา
2.การพัฒนาและปรับปรุงท่าเรือโดยสาร เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีชื่อเสียง ทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน โดยทางฝั่งอ่าวไทย เช่น ปรับปรุงท่าเรือหน้าทอน อ.เกาะสมุย และท่าเรือท้องศาลา อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนด้านฝั่งทะเลอันดามันมีการปรับปรุงท่าเรืออ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต และท่าเรือปากคลองจิหลาด จ.กระบี่ การพัฒนาท่าเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต ท่าเรือเกาะพยาม จ.ระนอง ท่าเรือธารา จ.กระบี่ ท่าเรือสุระกุล จ.พังงา และท่าเรือเกาะลันตาใหญ่ จ.กระบี่ ในอนาคตยังมีแผนงานพัฒนาท่าเรือเกาะพีพี จ.กระบี่ ให้รองรับนักท่องเที่ยวได้สะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
...
สำหรับท่าเรือปากเมง จ.ตรัง ถือเป็นท่าเรือสำคัญของท้องทะเลอันดามัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของไทยอีกแห่งที่ได้รับการปรับปรุง เนื่องจากใช้งานมานานถึง 30 ปี มีสภาพทรุดโทรม และแออัด ขนาดท่าเรือไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้มาใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด หรือเทศกาลต่างๆ มีทั้งเรือขนาดใหญ่ เรือหางยาว และเรือสปีดโบ๊ต เข้ามาใช้บริการถึงวันละไม่ต่ำกว่า 100 ลำ
กรมเจ้าท่าจึงร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดพัฒนาบรรณกิจ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงเป็นเวลา 630 วัน คาดว่าแล้วเสร็จราวช่วงเดือน เม.ย.2564 หลังแล้วเสร็จจะมีการใช้งานสมบูรณ์ครบถ้วน โดยมีพื้นที่ท่าเรือที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย พื้นที่ด้านหลังท่ามีพื้นที่การใช้สอยที่อำนวยความสะดวกสอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับ จ.ตรัง และยังเป็นท่าเรือเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งอันดามันในอนาคต สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและประเทศอย่างมหาศาล
3.กรมเจ้าท่ายังเล็งเห็นโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือสำราญขนาดใหญ่ของภูมิภาคดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังจ่ายสูง จึงมีแผนงานโครงการประกอบด้วย 3.1 ศึกษาและวิเคราะห์ให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 3.2 ศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบน และ 3.3 ศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และสำรวจการออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน ซึ่งทั้งหมดเริ่มศึกษาในปี 2563 จะใช้เวลา 2 ปี เมื่อแล้วเสร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ ช่วยเพิ่มการจดทะเบียนเรือท่องเที่ยว และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางผ่านด่านทางน้ำได้อีกด้วย
...
นายวรรณชัย กล่าวต่อว่า การจะทำให้การสร้างท่าเรือดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อการท่องเที่ยวจริงๆ นั้น จำเป็นว่า กรมเจ้าท่าจะต้องดำเนินการบูรณาการกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ด้วย กรมเจ้าท่ามีภารกิจในด้านสร้างโครงสร้างพื้นฐานการจะมองเรื่องการท่องเที่ยวจริงๆ ยังต้องประสานกับการท่องเที่ยว เพื่อกำหนดจุด หรือชี้ในเรื่องการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว หรือทิศทางตรงไหนที่จะเหมาะสมสำหรับการพัฒนา กรมเจ้าท่าก็สามารถที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะให้สอดคล้องกันต่อไป จะต้องบูรณาการกันหลายหน่วยงานที่จะมีการเชื่อมโยงเรื่องของระบบการโดยสาร การเดินทางต่างๆ ให้สามารถทำได้สะดวก รวมถึงเรื่องของระบบสาธารณูปโภคที่จะต้องลงในพื้นที่ด้วย สำคัญรวมกันหมดเลย
นายชำนาญ กล่าวว่า การท่องเที่ยวทางน้ำเป็นสิ่งที่ดึงรายรับจากนักท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต มีนักท่องเที่ยว 6-8 ล้านคนต่อปี มีลงทะเลมากกว่า 80% และมองว่า ท่าเรือจะเป็นอีกมิติสำคัญของการท่องเที่ยวไทยและสนับสนุนให้ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมีท่าเรือมาตรฐานระดับนานาชาติ โดยแนะว่า ก่อนเปิดประเทศให้เร่งรีบพัฒนาเพื่อให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 มั่นใจ 100% ว่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
นางปทิตตา กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวทางน้ำนั้น เรื่องของทัวร์ดินเนอร์บนเรือสำราญค่อนข้างหายไป เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวทัวร์คลอง ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตอนนี้ที่จะพึ่งพาได้คือ การท่องเที่ยวทางทะเล โดยจะเน้นที่นักท่องเที่ยวชาวไทย.