ทส.ร่วม เอกชน สร้างบ้านหลังใหม่ให้สัตว์ทะเลจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ด้าน "วราวุธ" รมว.ทส. กำชับ กรมทะเล ติดตามผลกระทบ ทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ

วันที่ 24 พ.ย. จากกรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มแนวคิดการใช้ขาแท่นหลุมปิโตรเลียมที่สิ้นสุดหน้าที่แล้ว มาวางเป็นปะการังเทียม เพื่อสร้างแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลภายใต้ “โครงการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จำนวน 7 ขาแท่น มาจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี”

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2556 โดยได้มีการศึกษาทดลองนำโครงสร้างเหล็กจำลองชนิดเดียวกับขาแท่นไปจัดวางที่บริเวณอ่าวโฉลกหลำของเกาะพะงัน ซึ่งประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล พบปริมาณสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประมงพื้นบ้าน และกลายเป็นแหล่งดำน้ำอีกแห่งหนึ่ง

ต่อมาในปี 2559 กรมทะเลฯ ร่วมกับ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขาแท่นหลุมปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาจัดวางเป็นปะการังเทียม และศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่จัดวาง ซึ่งผลการศึกษาออกมาเป็นที่น่าพอใจ และในปี 2561 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อ

...

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผยว่า การจัดวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ได้ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่แล้ว ทำให้สามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งก่อนดำเนินการจัดวางสำหรับการจัดวางขาแท่นทั้ง 7 ขาแท่น โดยได้เริ่มจัดวางขาแท่นแรกเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 และขาแท่นสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 พร้อมทั้งได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้เชี่ยวชาญการสำรวจทางทะเลเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทางบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้จัดพิธีส่งมอบให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นผู้ดูแล สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป

“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้กำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองพร้อมแผนและมาตรการการบริหารจัดการพื้นที่จัดวางขาแท่นดังกล่าว รวมทั้งแนวทางการติดตามและศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบจากการใช้ขาแท่นปิโตรเลียมในการจัดวางเป็นปะการังเทียม” ท้ายที่สุด อยากขอบคุณบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะหนึ่งในบริษัทชั้นนำในด้านการผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญและความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ดีมาโดยตลอด และตนเชื่อว่า ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะยังเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศให้คงความสมบูรณ์ยั่งยืนเช่นนี้ต่อไป โดยหวังว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล ส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เกาะพะงันและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งด้านการท่องเที่ยวดำน้ำ และการประมง

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัท เชฟรอนฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนโครงการนี้ พร้อมได้มอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้ว จำนวน 7 ขาแท่น ให้กับกรมทะเลไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านการจัดวางและงบประมาณโครงการฯ ตลอดจนจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้สนับสนุนงานศึกษาวิจัยของโครงการฯ อย่างไรก็ตาม
“เชื่อมั่นว่าโครงการศึกษานำร่องนี้จะสร้างองค์ความรู้ที่มีค่าด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลด้วยปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการดำเนินงานในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยตลอดระยะการดำเนินงาน เชฟรอนได้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนดกฎหมายและเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล”

โดยการดำเนินโครงการนี้ ได้รับการอนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า และกรมประมง นอกจากนี้ เชฟรอนยังได้ทำงานร่วมกับบริษัทผู้ร่วมทุน อันได้แก่ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการดังกล่าว ที่เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นเพื่อการเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน

...

นอกจากนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวย้ำว่า ตนได้กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ติดตามผลกระทบของโครงการดังกล่าวในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเราต้องประเมินทั้งผลกระทบทางบวกและผลกระทบทางลบ เพื่อประกอบการตัดสินใจในระดับนโยบายในการต่อยอดโครงการในอนาคต ซึ่งอย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี เพื่อถอดบทเรียนจากการดำเนินการโครงการฯ ครั้งนี้

“เราใช้ประโยชน์จากท้องทะเลอย่างมหาศาล เมื่อถึงวันที่เราจะสร้างประโยชน์ตอบแทนกลับคืน ก็ควรเป็นประโยชน์ที่แท้จริง การให้ในวันนี้ ต้องไม่เป็นการทำลายในวันข้างหน้า การใช้ขาแท่นปิโตรเลียมสร้างบ้านใหม่ให้ปะการังและสัตว์ทะเล ต้องหมั่นติดตามดูแล หากบ้านหลังใหม่สร้างผลกระทบ ต้องรีบจัดการ เพื่อรักษาบ้านหลังใหญ่มิให้ถูกทำลาย ใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ต้องรักษาให้คงอยู่" นายวราวุธ กล่าว