ชาวเกาะลิบง จะไม่ทน ทิ้งตะกอนโคลนทรายถมทะเล ทำหญ้าทะเลอาหารพะยูนสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ และส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวเกาะ มติที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน จี้ผู้เกี่ยวข้องสั่งระงับโครงการเร่งด่วน ขีดเส้นวันจันทร์หากยังดื้อดึง เตรียมใช้ยาแรงนำเรือประมงขวางปิดกั้นทางน้ำ
เวลา 14.00 น. วันที่ 8 ตุลาคม 2563 ที่อาคารจริยธรรมมัสยิด หมู่ 7 บ้านทรายแก้ว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ชาว ต.เกาะลิบง ประมาณ 200 คน ประกอบด้วยผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา องค์กรภาคประชาชน ประมงพื้นบ้าน โดยมี นายอับดุลร่อหีม ขุนรักษา กำนัน ต.เกาะลิบง นายสิทธิพร จิเหลา นายก อบต.เกาะลิบง ร่วมเวทีชาวบ้านในประเด็นการแก้ไขทิ้งตะกอนโคลนทรายบริเวณหน้าเกาะลิบง ทำให้หญ้าทะเลได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนในการทำงาน 15 คน ทำหนังสือส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบความต้องการของชุมชน เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ และมีมติในที่ประชุม ตกลงให้เรือที่ทิ้งโคลนระงับการทิ้งโคลน จนกว่าจะมีการตรวจสอบและชี้แจงต่อไปต่อหน้าชาวบ้านในชุมชน
...
นายสะปีอี เทศนำ อายุ 50 ปี ประธานกลุ่มรักษ์เลลิบง กล่าวว่า วันนี้มาประชุมเรื่องที่เจ้าท่า มีการถมโคลน ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2560 ทำให้เกิดความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะหญ้าทะเลบางส่วน คนในชุมชนไม่ต้องการให้มีการถมโคลนจาก อ.กันตัง อีก
ขณะที่ นายอาบีดีน จิเหลา อายุ 40 ปี เลขานุการกลุ่มรักษ์เลลิบง กล่าวด้วยว่า มติของชุมชนให้หยุดการทิ้งก่อน จนกว่าจะมีคำชี้แจงว่า ทำไมถึงส่งผลให้หญ้าทะเลตาย หากไม่ฟังก็จะไม่อยู่เฉย เราจะออกไปห้ามปราม
"ทุกคนมีความเครียดที่หม้อข้าวเราถูกทำลาย ถ้าเราไม่ปกป้อง มันก็จะถูกทำลายไปเรื่อยๆ อาจจะถูกทำลายจนหมด ต้องบอกว่าหญ้าทะเลเสียหายบางจุด พะยูน 1 ตัวกินอาหาร 35 กก. หากพะยูนต้องตายก็เหมือนว่าคนก็ต้องตายด้วย"
สำหรับโครงการดังกล่าว ทางสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ (สพบ.) กลุ่มแผนงานพัฒนาทางน้ำ กรมเจ้าท่า ได้ว่าจ้าง บริษัทแสงเจริญมารีนเซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำกันตัง มีจุดทิ้งอยู่ห่างจากแหล่งหญ้าทะเลประมาณ 5 กม. แต่สภาวะอากาศแปรปรวนส่งผลต่อทิศทางการกระจายของตะกอนดิน จนยากต่อการควบคุม ทำให้เกิดการตายของหญ้าทะเลในบริเวณอ่าวทุ่งจีน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนและอาหารของพะยูนได้เน่าตายลงเป็นบริเวณกว้าง คาดว่าน่าจะเกิดจากตะกอนโคลนที่ถูกนำไปทิ้ง ก่อนถูกกระแสคลื่นลมพัดพาเข้าไปทับถม จนหวั่นเกรงว่าพะยูนสัตว์ทะเลหายากจะสูญพันธุ์ในอนาคต
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่าน ทางตัวแทนชาวบ้านเสนอให้กรมเจ้าท่าเปลี่ยนจุดทิ้งและจะร่วมกันฟื้นฟูแต่ไม่เป็นผล จึงรวมตัวกันประชุมเพื่อเร่งให้ระงับโครงการดังกล่าว.
...