อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความไม่สงบเช่นเดียวกับท้องที่อื่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ปัญหายาเสพติด หรือการเข้าถึงบริการของรัฐ

เมื่อวันก่อน นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองอธิบดีกรมการปกครอง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือครอบครัวของ นางเจะรอสนะ สนิ บ้านตะโละตา หมู่ 3 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ ซึ่งมีฐานะยากจน ลูกชายคนเล็กคือ ด.ช.ฮาริส ดาแมย วัย 10 ปี พิการไม่มีแขนขาแต่กำเนิด ได้รับการช่วยเหลือจนกลายมาเป็น “ฮาริสโมเดล” และถูกนำไปเป็นต้นแบบในการช่วยเหลือเด็กพิการในพื้นที่อำเภอต่างๆ

ว่าที่ ร.ต.จิรัสย์ ศิริวัลลภ นอภ.บาเจาะ เปิดเผยว่า ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือครอบครัวของ ด.ช.ฮาริส คือการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้ช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด, การปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ และการสร้างอาชีพให้แก่ครอบครัวอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้รับ ด.ช.ฮาริส และ ด.ช.อัลฟุรกรณ์ หามะ ผู้พิการอีกรายไว้ในความอุปการะของมูลนิธิฯ มีการติดตามให้คำแนะนำในการดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

สิ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมคือทัศนคติของครอบครัวที่มีเด็กพิการมักจะมีทัศนคติในแง่ลบ มองว่าเป็นความโชคร้าย การพัฒนาเด็กพิการจะทำได้ยากยิ่ง

ดังนั้น ต้องสร้างทัศนคติในทางบวกแก่ครอบครัวเด็กพิการ โดยจัดกิจกรรม “วันเด็กพิเศษ” เพื่อสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปัจจุบันครอบครัวของเด็กชายทั้ง 2 ราย จากเดิมจมทุกข์อยู่กับความพิการของลูก กลับเป็นผู้ให้กำลังใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับครอบครัวเด็กพิการอื่นๆ

...

“ฮาริสโมเดล” ยังคงถูกใช้กับการให้ความช่วยเหลือเด็กพิการแต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ การป้องกันความพิการแต่กำเนิด และการให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการมีเด็กพิการ...

สุไลมาน แวมามะ / รายงาน