ช่วงเทศกาลสารทเดือนสิบของทุกๆปี ที่ชุมชนถนนใหม่เขตเทศบาล เมืองพังงา อ.เมืองพังงา ผู้คนจะพบเห็น “ชาวไทยใหม่” หรือ “ชาวเลอูรักลาโว้ย” ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต หอบลูกจูงหลานมาอาศัยกินอยู่หลับนอนตามชายคาหน้าบ้านของชาวบ้านในชุมชน เพื่อขอรับบริจาคอาหาร เสื้อผ้าและเงินสด
ในอดีต “ชาวเลอูรักลาโว้ย” ได้นำอาหารทะเลมาแลกกับข้าวสาร เสื้อผ้า ของชาวบ้านบนแผ่นดินใหญ่ และขออาศัยหลับนอนตามหน้าบ้านของคนในชุมชนแห่งนี้
แต่ภายหลังสัตว์น้ำทะเลหายาก ประกอบกับกลุ่ม “ชาวเลอูรักลาโว้ย” ย้ายถิ่นฐานขึ้นมาอยู่บนฝั่ง จึงหันมาขออาหารจากชาวบ้านแทน ในช่วงเทศกาลสารทเดือนสิบ เพราะชาวบ้านจะทำบุญทำทานในช่วงดังกล่าว
นายไตรรัตน์ กลับคง รองนายกเทศบาลเมืองพังงา กล่าวว่า เป็นเรื่องของความผูกพันมานานกว่า 100 ปี ระหว่าง ชาวเลอูรักลาโว้ย กับคนในชุมชนถนนใหม่ โดยในช่วงเทศกาลสารทเดือนสิบของทุกปี ตั้งแต่วันรับตายาย กลุ่มชาวเลฯจะนำครอบครัวเดินทางมาอาศัยอยู่ตามหน้าบ้านของชาวชุมชน
ช่วงกลางวันก็จะพากันออกไปรับบุญจากชาวไทยพุทธ ด้วยการขอข้าวสาร เสื้อผ้า หรือเงินสด ตามพื้นที่ต่างๆ ตกเย็นก็จะกลับมาทำอาหารกินกันหน้าบ้านและหลับนอนอยู่หน้าบ้าน โดยเจ้าของบ้านไม่ได้รังเกียจแต่อย่างใด
เทศบาลพยายามจัดที่กินอยู่หลับนอนให้เป็นสัดส่วน แต่พวกเขาก็ไม่ยินยอม บอกว่าต้องมาขอข้าวสารกินนอนหน้าบ้านทับรอยของบรรพบุรุษของพวกเขา หากไม่ทำตามจะไม่สบายหรือประสบโชคร้าย ต้องมีอันเป็นไป หลังได้สิ่งของแล้วก็จะเดินทางกลับบ้านไป
สำหรับ ชาวเลอูรักลาโว้ย เดิมอาศัยอยู่ในท้องทะเล ยังชีพด้วยการหาปลา อพยพเปลี่ยนถิ่นที่อยู่ไปเรื่อยๆ จาก เกาะในอินโดนีเซีย มาเลเซียในอดีต เรื่อยมาจนถึงเมืองไทย
...
ปัจจุบันมีชุมชน ชาวเลอูรักลาโว้ย หลายแห่งใน 5 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ส่วนที่ชุมชนหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต มีประมาณ 244 ครัวเรือน ประชากรกว่า 2,000 คน ยึดอาชีพด้วยการหาปลาเป็นหลัก...
สุขสันต์ สมทรัพย์ / รายงาน