ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กพต.” ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่อติดตามความก้าวหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

หนึ่งในโครงการคือ “เมืองต้นแบบที่ 4” หรือ “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

เป็นโครงการที่รัฐบาลมีมติเห็นชอบให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้อำนวยความสะดวก และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาอาชีพของคนในพื้นที่ “เมืองต้นแบบที่ 4” ประกอบด้วย ต.นาทับ, สะกอม และตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ให้มีความมั่นคง มั่นใจ

ศอ.บต.ร่วมประชุมกับชาวบ้านใน อ.จะนะ เพื่อสร้างความเข้าใจ.
ศอ.บต.ร่วมประชุมกับชาวบ้านใน อ.จะนะ เพื่อสร้างความเข้าใจ.

...

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้มอบหมายให้ ศอ.บต. สร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยังได้สั่งการให้ ทุกหน่วยงานในพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” เป็นการช่วยเหลือ ศอ.บต. อีกทางหนึ่งเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และความเชื่อมั่นของคนในพื้นที่ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน มั่นคง ประเทศชาติ และประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน

กลุ่มผู้นำชุมชน อ.จะนะ จ.สงขลา เข้าเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ประเทศมาเลเซีย.
กลุ่มผู้นำชุมชน อ.จะนะ จ.สงขลา เข้าเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ประเทศมาเลเซีย.

ดังนั้น “เมืองต้นแบบที่ 4” จึงอยู่ในช่วงของการผลักดันให้เดินหน้าต่อ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ ไม่ได้สั่งให้ “หยุด” หรือ “ชะลอ” โครงการอย่างที่คนบางกลุ่มออกมาสร้างความสับสนให้เกิดขึ้น

โดยข้อเท็จจริงแล้ว นโยบายของการขับเคลื่อน “เมืองต้นแบบที่ 4” ถือเป็น “วิกฤติในโอกาส” ของการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสถานการณ์ของประเทศ ณ วันนี้ถ้าเอกชนไม่เป็นผู้ลงทุนเชื่อว่า โครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะ ไม่เกิดขึ้นในภาคใต้อย่างแน่นอน

ชาวบ้านใน อ.จะนะ จ.สงขลา กับกรงนกเขาชวาเสียง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่.
ชาวบ้านใน อ.จะนะ จ.สงขลา กับกรงนกเขาชวาเสียง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่.

โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งยังมีเรื่องของความไม่ปลอดภัย เพราะผู้ก่อความไม่สงบ ยังปฏิบัติการทาง “การทหาร” และ “การเมือง” อยู่

การที่เอกชนจำนวน 2 บริษัท เข้ามาลงทุนทำ “อุตสาหกรรม” ที่ไม่มี “ปิโตรเคมี” ในพื้นที่ 17,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือการ “แปรวิกฤติให้เป็นโอกาส” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง

...

ศอ.บต.ชี้แจงกับประชาชนชาว อ.จะนะ จ.สงขลา ก่อนนำไปศึกษาดูงานที่ จ.ระยอง และเมืองอุตสาหกรรม ที่ประเทศมาเลเซีย.
ศอ.บต.ชี้แจงกับประชาชนชาว อ.จะนะ จ.สงขลา ก่อนนำไปศึกษาดูงานที่ จ.ระยอง และเมืองอุตสาหกรรม ที่ประเทศมาเลเซีย.

วิกฤติของการก่อการร้าย วิกฤติของคนว่างงาน วิกฤติของนักศึกษาจบใหม่ และจบมาแล้วยังตกงาน จะได้รับการแก้ไขจากการเกิดขึ้นของ “เมืองอุตสาหกรรมในอนาคต” และจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบอาชีพเดิมที่มีอยู่แล้ว และเกิดอาชีพใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับเขตอุตสาหกรรมอื่นๆ ในประเทศไทย

ต้องขอชื่นชมแนวคิดของ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ที่ให้ ศอ.บต.ประชุมร่วมกับสถานศึกษาระดับอาชีวะในพื้นที่ 5 อำเภอ โดยให้เอกชนผู้ลงทุนร่วมกำหนดแผนในการผลิตนักศึกษาเพื่อให้ตอบโจทย์ของ “ตลาดแรงงาน”

...

ศอ.บต.ส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้านให้กับชาว อ.จะนะ เพื่อการพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืน.
ศอ.บต.ส่งเสริมอาชีพประมงพื้นบ้านให้กับชาว อ.จะนะ เพื่อการพัฒนาอาชีพที่ยั่งยืน.

ถือเป็นการ “ร่วมกันออกแบบ” ของการพัฒนา ระหว่างสถานศึกษา หน่วยงานของรัฐ และเอกชนผู้ลงทุน เพื่อให้การผลิตนักศึกษาที่จบใหม่ตรงกับตลาดแรงงานของเอกชน

โดยข้อเท็จจริง นอกจากสถานศึกษาระดับ “อาชีวะ” แล้ว ใน จ.สงขลา ยังมีสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, มหาวิทยาลัยราชมงคล, มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นของรัฐ และ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ที่เป็นของเอกชน

ดังนั้น มหาวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ควรจะปรับตัวในการผลิตนักศึกษาคณะต่างๆ เพื่อให้ตรงกับตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สอดรับการเกิดขึ้นของ “เมืองต้นแบบที่ 4” รวมทั้งการเกิดขึ้นของ “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอำเภอสะเดา” และอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย

...

ศอ.บต.นำชาวบ้านใน อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ไปศึกษาดูงานที่ จ.ระยอง.
ศอ.บต.นำชาวบ้านใน อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ไปศึกษาดูงานที่ จ.ระยอง.

เป้าหมายของนักศึกษาคือการเรียบจบแล้วมีงานทำ ส่วนเป้าหมายของผู้ปกครองคือการเห็นลูกหลานได้ทำงานในบ้านเกิดเมืองนอน

ในยุคเศรษฐกิจของประเทศ “หัวทิ่ม” รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่าง จีน กับ สหรัฐอเมริกา และการเกิดขึ้นของ “โควิด-19” คือสิ่งบอกเหตุว่าเราจะต้องต่อสู้เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่าเร็ว 5 ปี อย่างช้า 10 ปี

ศอ.บต.นำคณะกลุ่มผู้ประกอบการเดินทางไปศึกษาดูงานที่บริเวณท่าเรือสินค้าประเทศมาเลเซีย เพื่อให้เข้าใจการพัฒนาเมืองต้นแบบ.
ศอ.บต.นำคณะกลุ่มผู้ประกอบการเดินทางไปศึกษาดูงานที่บริเวณท่าเรือสินค้าประเทศมาเลเซีย เพื่อให้เข้าใจการพัฒนาเมืองต้นแบบ.

ดังนั้น “เมืองต้นแบบที่ 4” เป็นการลงทุน ของเอกชนในวงเงิน 6 แสนล้านบาท และเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรม “สีเขียว” ไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงเป็น “โอกาส” ใน “วิกฤติ” อย่างแท้จริงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาทุกแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารสถานศึกษาคิดอย่างไร มองอย่างไรกับการเกิดขึ้นของ “เมืองต้นแบบที่ 4” พร้อมหรือยังที่จะแสดงความคิดเห็น

เพื่อร่วมกันออกแบบ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ร่วมกับภาครัฐและเอกชนเจ้าของโครงการ.

สมพร หาญณรงค์