ชาวเกาะตันหยงอุมา จ.สตูล ออกทะเลจับกุ้งเคย มาทำ "กะปิดินระเบิด" ที่เป็นก้อนกลมๆ ชูจุดเด่นสีสวย หอม ไม่ขมเพราะใช้กุ้งสดๆ ไม่ดอง โดยช่วงโควิดระบาด ก็ทำกะปิ กุ้งแห้ง ปลาเค็มออกมาขายทำรายได้งาม
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ม.1 บ้านตันหยงอุมา ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ที่เป็นหมู่บ้านที่เป็นเกาะกลางทะเล ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพประมงชายฝั่ง หรือทำประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะในระยะนี้เป็นช่วงฤดูกุ้งเคย ที่เป็นกุ้งขนาดเล็ก เนื้อนุ่มรสหวาน สีชมพูอ่อน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีแคลเซียมสูง ชาวบ้านนิยมนำไปทำเคยหรือกะปิ กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะเคยหรือกะปิของที่นี่จะปั้นเป็นลูกกลมเหมือนดินระเบิด ลูกค้าที่มารับซื้อจึงเรียกกันติดปากว่า "กะปิดินระเบิด"
...
นางวิไลวรรณ ภูมิฐาน อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 124 ม.1 ต.เกาะสาหร่าย กล่าวว่า ตนมีอาชีพทำกะปิจากกุ้งเคยมานานกว่า 20 ปี โดยจะรุนกุ้งเคยบริเวณทะเลแถวหน้าบ้าน โดยเฉพาะปลายฝนต้นหนาวกุ้งเคยจะเข้ามามากบริเวณน้ำตื้นก็สามารถหาได้ ซึ่งตนหาได้มากสุด คือ กุ้งเคยที่อยู่กันเป็นกลุ่มก้อนประมาณ 100 กก. โดยกุ้งเคยน้ำหนัก 50 กก.สามารถนำมาทำเป็นกะปิได้เพียง 30 กก.โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ชาวบ้านไม่สามารถขายสัตว์น้ำได้ในราคาดี การทำกะปิและถนอมอาหารทะเล คือ ทางออกของชาวบ้าน
ชาวบ้านผู้ผลิตกะปิเคย กล่าวต่อว่า สำหรับกะปิเคยที่ทำนั้น ในส่วนของตนจะมีความหอม และให้รสชาติดี เนื่องจากมีเทคนิคส่วนตัวในการทำ คือ จะใช้กุ้งสด ไม่มีการดองกุ้ง ทำให้กะปิสีสวยมีน้ำหนัก และหอมรสชาติอร่อย โดยตนจะออกรุนกุ้งเคยในช่วงเช้าจากนั้นก็นำมาล้างให้สะอาดและนำมาตากแดดตั้งแต่เช้า โดยใช้เวลาตากกุ้ง 1 วันจากนั้นก็นำมาตำ ระหว่างตำจะใส่เกลือและน้ำตาลผสมลงไป ในขณะที่ตำจนกลายเป็นกะปิหยาบ จากนั้นจึงนำไปหมักอีก 2 คืน แล้วก็จะนำไปตากแดดอีก 1 วันก่อนที่จะมาตำให้ละเอียด และนำมาปั้นเป็นก้อน โดยจะขายกิโลกรัมละ 100 บาท หากใส่ในกระปุก จะขายกระปุกละ 60 บาท เพราะคิดค่ากระปุก 10 บาท แม่ค้าที่มาซื้อเป็นแม่ค้าจาก จ.พังงา และจ.ตรัง มารับซื้อไปขาย ทั้งนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อเป็นก้อนแล้วนำไปบรรจุกระปุกขายเอง
...
สำหรับกะปิที่ขม จะเป็นกะปิที่ใส่เกลือมากเกินหรือน้อยเกินไป ทำให้กะปิขม อย่างไรก็ตาม กะปิของตนเป็นกะปิกุ้งสดไม่ใส่สีหรือสารใดๆ ทั้งสิ้น เป็นกุ้งเคยจากธรรมชาติที่หาได้ในพื้นที่ล้วนๆ ซึ่งในแต่ละชุดที่ทำจะใช้กุ้งเคยประมาณ 150 กก.จะได้กะปิ 90 กก. ซึ่งถือเป็นรายได้เสริมของชาวบ้านที่นี่ และหากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว สินค้าผลผลิตของชาวบ้านทั้งกุ้งแห้ง กะปิ ปลาเค็ม สามารถนำมาขายมีรายได้ใช้จ่ายในครอบครัว
กุ้งเคยนอกจากใช้ทำกะปิแล้ว ยังนำไปตากเป็นกุ้งแห้ง ตลอดจนใช้กุ้งเคยสดไปปรุงเป็นอาหารหลากหลาย ซึ่งกุ้งเคยแห้งชาวบ้านจะขายในราคา กก.ละ 100 บาทเช่นกัน แต่เนื่องจากกุ้งตัวเล็ก เพียงครึ่ง กก.50 บาท ก็ได้ปริมาณกุ้งแห้งจำนวนมากแล้ว.