ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังแม่น้ำโขงที่บึงกาฬ โอดครวญพิษโควิด-19 ไร้สงกรานต์ปลาขายไม่ออก ตกค้างกว่า 30 ตัน แบกรับต้นทุนเลี้ยงต่อไม่ไหว วอนผู้ประกอบการประชาชนช่วยซื้อปลาไปจำหน่ายและบริโภค

เมื่อวันที่ 20 เม.ย.63 นายยวรพงษ์ สาระรัตน์ ประมงจังหวัดบึงกาฬ และนางพิรุณวรรณน์ จงใจภักดิ์ พาณิชย์จังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดและพาณิชย์จังหวัด ออกติดตามสถานการณ์การเลี้ยง และการจำหน่ายปลานิลในกระชังแม่น้ำโขงในพื้นที่กระชังปลา นางสุมาลี เวชกามา บ้านท่าโพธิ์ ตำบลบึงกาฬ และที่โอโม่ฟาร์มปลานิลสด บ้านห้วยดอกไม้ ตำบลโคกก่อง อำเภอเมืองบึงกาฬ หลังได้รับผลกระทบจากในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ปลานิลขายไม่ออกตกค้างในกระชังกว่า 30 ตัน วอนผู้ประกอบการประชาชนช่วยซื้อปลาไปจำหน่ายและบริโภค

นายวรพงษ์ สาระรัตน์ ประมงจังหวัดบึงกาฬ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังได้วางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้า ให้ปลานิลโตและสามารถจำหน่ายได้ในช่วงสงกรานต์ แต่พอมีสถานการณ์เกิดขึ้นก็ส่งผลให้ไม่สามารถจำหน่ายได้ หรือได้ ก็น้อยลงจากเดิมเป็นอย่างมากปลานิลต้องตกค้างอยู่ในกระชังกว่า 30 ตัน ผู้เลี้ยงก็เดือดร้อนเพราะปลาที่เลี้ยงไว้ได้ขนาดแล้ว แต่ว่าขายไม่ออก เกษตรกรจำเป็นต้องเลี้ยงต่อ ทั้งค่าอาหาร ซึ่งก็ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก

...


ด้าน นางพิรุณวรรณน์ จงใจภักดิ์ พาณิชย์จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า แนวทางที่สำนักงานพาณิชย์จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง ก็จะช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์การจำหน่ายผ่านโซเชียลของสำนักงานพาณิชย์ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ขายเนื้อปลา เพื่อให้มาซื้อที่แหล่งผลิต และจะทำหนังสือไปถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ให้ประสานผู้ประกอบการรายใหญ่ให้มาซื้อที่แหล่งผลิตเองซึ่งจะได้ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 65-70 บาท

พาณิชย์จังหวัดบึงกาฬ กล่าวอีกว่า ในสภาวะเช่นนี้ก็อยากจะให้พ่อค้าแม่ค้าทั่วประเทศที่ซื้อปลานิลไปจำหน่าย และประชาชนทั่วไป มาซื้อปลานิลคุณภาพจากกระชังแม่น้ำโขง ที่รสชาติดีเยี่ยม แถมราคาแบบมิตรภาพ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล การรับประทานปลาเป็นประจำนั้น ร่างกายจะได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพ ย่อยง่าย มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ในการบำรุงสมอง บำรุงเส้นประสาทและสายตา ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยให้สมองทารกพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเหมาะสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทั้งปลานิล ยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลายเมนู


ส่วน นางสมจิตร ปากสวัสดิ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล กล่าวว่า ในช่วงเดือน เม.ย.จะขายปลานิลได้วันละ 100-200 กิโลกรัม หรือวันละ 1,000 กิโลกรัมในช่วงสงกรานต์ มาปีนี้ขายได้ 20 กิโลกรัม เรียกได้ว่า ลดลงเยอะมาก โดยปกติก็ขายตามหมู่บ้านและส่งตลาดบ้าง ซึ่งก็พอขายได้บ้าง มาปีนี้หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งก็เข้าใจสถานการณ์.