ปูม้าในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมีเนื้อแน่นรสสัมผัสอร่อยจึงถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ส่งขายแพปลา ไม่เว้นแม้กระทั่งปูม้าไข่นอกกระดอง ทำให้ปูม้าในธรรมชาติลดจำนวนลง

เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ปูม้าอยู่คู่ทะเลไทย และชาวประมงพื้นบ้าน ประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน บริษัท ซีพีแรม จำกัด จึงร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 3 (สุราษฎร์ธานี) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และชาวบ้าน ต.พุมเรียง จัดทำโครงการปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย

นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการซีพีแรม เผยว่า หลังทีมงานได้ร่วมหาแนวทางแก้ปัญหาปริมาณปูม้าในพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ได้ข้อสรุปต้องเริ่มจากให้ความรู้การรณรงค์กับชาวประมงพื้นบ้าน งดจับปูไข่นอกกระดองขาย เรือประมงลำไหนจับปูไข่นอกกระดองให้นำมาฝาก (ขาย) ที่ศูนย์วิจัยฯ เจ้าหน้าที่จะนำแม่ปูไข่นอกกระดองมาพักให้แม่ปูเขี่ยไข่จากตับปิ้ง นำไข่มาอนุบาลตัวอ่อน ถึงวัยที่มองด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน (Young Crab) จึงนำลูกปูไปปล่อยในพื้นทีี่่เกาะเสร็จ จ.สุราษฎร์ธานี เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลชายฝั่ง มีแหล่งอาหารทั้งหญ้าทะเล แพลงก์ตอน อุดมสมบูรณ์ ลูกปูม้าสามารถฝังตัวลงทรายและเจริญเติบโตได้ดี

...

ด้าน ดร.สุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผอ.กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง บอกว่า แม้ที่ผ่านมาชาวประมงชายฝั่งมีการทำธนาคารปูม้าอยู่แล้ว แต่การดำเนินการแบบชาวบ้านไม่มีความชัดเจนเรื่องการอนุบาลแม่ปูไข่ ทางกรมประมงและ ม.วลัยลักษณ์ จึงเข้ามาให้ความรู้ โดยซีพีแรม สนับสนุนค่าใช้จ่าย ทำให้มีเวลาอนุบาลลูกปูจากไข่นอกกระดองให้โตถึงวัย Young Crab ที่แข็งแรงพอจะนำไปปล่อยทะเลให้มีอัตราการรอดสูง

สังเกตได้จากการจับของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ช่วง 2 ปีมานี้ ได้ปูม้าเพิ่มมากขึ้น จากเดิมต้องออกทะเลห่างชายฝั่งจะจับปูได้วันละ 5-10 กก. แต่ในช่วงปลายปี 2561-62 ชาวประมงพื้นบ้านนอกจากไม่ต้องออกเรือไปไกล แต่ละครั้งยังจับปูม้าได้ 20-30 กก. ช่วยยืดลมหายใจประมงชายฝั่ง ไม่ต้องออกเรือจับปูไกลๆ.