ผอ.รพ.วิชระภูเก็ต เตรียมแถลงชี้แจง กรณี หมอแจ้งความ ผอ.และรองผอ. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รับผู้ป่วยสงสัยโรคโควิด-19 เข้ามาพักโดยไม่ได้เตรียมสถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เพียงพอ เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งแพร่เชื้อขนาดใหญ่ต่อชุมชน

ตามที่เพจ The Reporters ได้รายงานข่าว ระบุว่า

"ได้รับเอกสารใบแจ้งความที่สภ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต จากแพทย์คนหนึ่ง ลงวันที่ 1 มี.ค.2563 แจ้งความ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลฝ่ายการแพทย์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสาธารณชน

The Reporters ระบุด้วยว่า ผู้อำนวยการ และ รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ รับผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยโรคโควิด-19 จำนวนมากที่ไม่มีการวินิจฉัยให้ถึงที่สุด เข้ามาพักใน รพ.วชิระภูเก็ต โดยไม่ได้เตรียมสถานที่ บุคลากร หรืออุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เพียงพอใดๆ ต่อเจ้าหน้าที่ หรือต่อผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่มารับบริการในแต่ละวัน เป็นการกระทำจงใจให้เกิดอันตรายต่อประชาชนจำนวนมาก โดยไม่เป็นธรรม

ในใบแจ้งความระบุว่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ไม่บริหารงาน ตามมาตรฐานวิชาชีพในการป้องกันโรคระบาดอันตรายร้ายแรง ขัดขวางข้อเสนอที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ในการให้แยกสถานที่ในการรักษาผู้ป่วย โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ออกจากสถานพยาบาลปกติทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงพยาบาล อันจะเป็นสาเหตุเพิ่มมากขึ้นในการเสียชีวิตของผู้ป่วยอื่น ที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล และเมื่อไม่สามารถป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดในโรงพยาบาลได้ ตามข้อมูลทั่วโลก โรงพยาบาล จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคขนาดใหญ่ต่อชุมชน ดังเช่นในข่าวการแพร่ระบาดโรคอันตรายร้ายแรงโควิด 19 นี้ จากโรงพยาบาลสู่ชุมชน ในประเทศจีน เกาหลีใต้ และอิตาลีมาแล้ว

...

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ก็มีการแยกโรงพยาบาลเฉพาะเพื่อรักษาโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงโควิด-19 ออกจากโรงพยาบาลปกติทั่วไป โดยในใบแจ้งความระบุข้อกล่าวหาว่า

1. ยับยั้งขัดขวางข้อเสนอ ที่จะให้แยกโรงพยาบาลเพื่อรับรักษาโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงโควิด-19 โดยเฉพาะโดยแยกการรักษาผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยอื่นทั่วไป

2. ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เพียงพอให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องติดต่อกับผู้ป่วยทุกจุด เช่นพยาบาลเจ้าหน้าที่ที่จุดคัดกรองหน้าห้องบัตร หรือที่เคาน์เตอร์หน้าห้องตรวจ ไม่มีหน้ากากอนามัยเพียงพอ ไม่มีแว่นหรือที่ปกปิดป้องกันหน้าจากไวรัสเพียงพอ

3. มีการนำผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยที่ต้องใช้ห้องแยกจากโรงพยาบาล เอกชนมานอนในห้องแยกใน ICU อายุรกรรมรวม ซึ่งมีการใช้เคาน์เตอร์พยาบาลร่วมกัน แอร์ในห้องร่วมกัน

4. มีการนำผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย หรืออีกนัยเป็นผู้ป่วยโควิด-19 แต่ไม่ได้ทำการวินิจฉัยให้ถึงที่สุดไปนอนตามตึกต่างๆ เป็นจำนวนมาก จนต้องขยายตึกรับโดยไม่มีมาตรการป้องกันเต็มที่ เช่นให้ข้อมูลการระมัดระวังแก่เจ้าหน้าที่ รพ. ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่แผนกอื่นที่ต้องทำงานร่วมกันเช่นแผนกรังสี แผนกศัลยกรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่คนงานต่างๆ

5. ไม่มีการตรวจว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานมีการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เพื่อทำการสืบสวนป้องกันการแพร่ระบาดในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงต่อชุมชนใดๆ

6. ไม่มีการเตรียมสถานที่รับผู้ป่วยฉุกเฉินแยกจากผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน จะรับผู้ป่วยรวมกันในสถานที่เดียวกันอันเป็นเหตุให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรคจำนวนมากได้

ทั้งนี้ The Reporters ได้สอบถามไปยังแพทย์ที่เป็นเจ้าทุกข์ ไปแจ้งความในครั้งนี้ ให้เหตุผลที่ตัดสินใจไปแจ้งความ

เพราะคิดว่าทุกคนควรจะปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดตามมาตรฐานวิชาชีพ การนำผู้ป่วยโรคร้ายแรงมาอยู่รวมโรงพยาบาลปกติ อาจไม่ส่งผลดี และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยอื่นในโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ จึงอยากให้มีโรงพยาบาลโดยเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยหรือผู้เฝ้าระวังโรคโควิด-19

“ถ้าท่าน ผอ.ไม่สามารถรับรองได้ว่า โรคโควิดไปติดเจ้าหน้าที่ หรือคนไข้อื่นที่ไม่รู้ จึงต้องมีวิธีอื่น เพื่อความเป็นธรรม เห็นว่าควรแยกโรงพยาบาลไปหนึ่งแห่ง เพื่อรักษาโรคนี้ จะได้ให้คนไข้ในโรงพยาบาลคนอื่นได้ปลอดภัย ซึ่งเป็นหลักมาตรฐานโรคระบาดร้ายแรง” แพทย์เจ้าทุกข์ กล่าว

แพทย์ที่ไปแจ้งความ เห็นว่า ขณะนี้เฉพาะในจังหวัดภูเก็ตมีผู้ที่เฝ้าติดตามอาการ PUI ในทุกโรงพยาบาล ทำไมถึงไม่จัดโรงพยาบาลเฉพาะ ซึ่งทำแบบนี้ทำให้ทุกโรงพยาบาลมีความเสี่ยงทั้งหมด หากโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เหมือนในเกาหลีใต้ จะรับมือกันอย่างไร จึงอยากให้มีการแยกโรงพยาบาลโดยเฉพาะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่

แพทย์คนนี้ ระบุว่า เคยทำหนังสือไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ร้องเรียนว่า ขอให้แยกโรงพยาบาลสำหรับโควิด-19 แต่ไม่มีการตอบรับ

ล่าสุด วันที่ 2 มีนาคม 2563 แพทย์คนนี้และแพทย์อีกหนึ่งคน รวม 2 คน ได้เขียนหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ สุขุม กาญจนพิมาย เพื่อให้มีมาตรการด่วนในการแยกโรงพยาบาลเฉพาะสำหรับโรคโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งหากเห็นด้วย ก็สามารถออกมาตรการในทุกจังหวัด เพื่อเตรียมรับมือการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แม้รัฐบาลจะมั่นใจในมาตรการ แต่ในส่วนบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องทำหน้าที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ คิดว่าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จึงอยากให้มีโรงพยาบาลเฉพาะโดยด่วน เหมือนเช่นที่ต่างประเทศดำเนินการ

...

โดยจดหมายส่งทางไปรษณีย์ ไม่ทราบว่าจะถึงเมื่อใด แต่หวังว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ห่วงใยต่อสถานการณ์นี้"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 13.00 น. วันที่ 3 มี.ค.นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้นัดหมายสื่อมวลชน เข้ารับฟังการแถลงรายละเอียด และชี้แจงในเรื่องนี้ ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้น 6 ตึกคุณพุ่ม.