ชาวลุ่มน้ำทะเลสาบ คาบสมุทรสทิงพระ รวมตัวยื่นหนังสือร้องรัฐบาล เร่งแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำจืด และปัญหาน้ำจืดไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน เสนอสร้างประตูกั้นน้ำเค็มที่เรื้อรังกว่า 40 ปีอีกครั้ง นำมอบให้ รมว.เกษตรฯ หลังเคยมีข้อโต้แย้ง เหตุกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ 17 ก.พ.63 นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯ รับข้อเสนอพิจารณาดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา ช่วยเหลือพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา ในการหารือ ได้ชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 40 ปี ทั้งเชิงอนุรักษ์และเชิงการพัฒนา โดยเฉพาะโครงการทำแนวคันกั้นน้ำเค็มนั้น ที่ผ่านมากรมชลฯ ได้มีการศึกษาความเหมาะสมร่วมกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไว้ตั้งแต่ปี 2514 หาแนวที่เหมาะสม แต่ขณะนั้นคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาไม่เห็นด้วย จนต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกโครงการปี 2549 และให้พิจารณาหาทางเลือกอื่นร่วมทั้งการปรับเปลี่ยนอาชีพหรือการส่งเสริมการเกษตรใช้น้ำน้อยกับเกษตรกรในพื้นที่
...
การศึกษาโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา เดิมเสนอไว้ 3 แห่ง คือ SiteA เกาะใหญ่-แหลมจองถนน SiteB เกาะโคป-ปากพะยูน SiteC ปากรอ ต่อมาในปี 2527 ถึงปี 2548 ได้มีการศึกษาถึง ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการมาโดยตลอด ผลการศึกษาและสำรวจพบว่า โครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มบริเวณ SiteA มีความเหมาะสมที่สุด รองลงมาคือ SiteC
ต่อมาในปี 2553-2555 กรมชลฯ ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ และได้เสนอโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ปัจจุบันโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระคืบหน้าแล้ว 60%
"กรมชลฯ ได้รับข้อสั่งการของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ที่ลงพื้นที่เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ให้เร่งแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนเพื่อใช้เก็บน้ำในฤดูฝนที่จะถึงโดยการเพิ่มศักยภาพเก็บน้ำจืดในพื้นที่ที่สามารถทำได้ทันที โดยกรมชลฯ มีแผนขุดลอกคลองในพื้นที่ชลประทานอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 และแผนงานเพิ่มเติมปี 63 จำนวน 61 สายคลอง สามารถรองรับน้ำและเก็บน้ำได้อีกประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สำหรับระยะกลางจะสำรวจออกแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ขยายคลองให้กว้างขึ้น รวมทั้งแก้มลิง ตระพัง นอกเขตพื้นที่ชลประทาน คาดว่าจะมีน้ำจากแหล่งเหล่านี้เพิ่มอีกประมาณ 25 ล้านลบ.ม. ซึ่งหากจำเป็นต้องซื้อที่ดินก็ให้ดำเนินการได้ตามที่ รมว.เกษตรฯ ได้มีบัญชาไว้ ส่วนในระยะยาวจะมีการสำรวจแหล่งน้ำเพิ่มและระบบควบคุมน้ำเชื่อมแหล่งน้ำในทะเลสาบ แต่กรณีข้อเสนอใหม่ทำประตูกั้นน้ำเค็มเป็นเรื่องที่ต้องหารือกับฝ่ายนโยบายและประชาชน โดยจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการก่อสร้างอย่างรอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติต่อไป" นายประพิศ กล่าว
ด้านนายถาวร แซ่อิ้ว กรรมการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้านเกษตรกรรม กล่าวว่า ประชาชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลากว่า 300 คน ได้ยื่นหนังสือต่อ รมว.เกษตรฯ เพื่อให้มีการศึกษาการทำคันกั้นน้ำเค็มขึ้นมาพิจารณาใหม่ เพราะประชาชนเริ่มเจอน้ำเค็มรุกซ้ำซาก หลังจากเคยยุติไป แต่ปัจจุบันคนในพื้นที่เห็นแล้วว่าเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกจริง โดยเฉพาะใน 3 ปีที่ผ่านมากระทบต่อประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ร่วมกว่า 5 แสนไร่ เสียหายต่อเศรษฐกิจปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะน้ำเค็มรุกถึงทะเลน้อย ถึงพรุควนเคร็ง กระทบพื้นที่เกษตร นาข้าวในระโนด ความเค็มเมื่อ 14 ก.พ.63 สูงถึง 8 กรัมต่อลิตร ซึ่งเครือข่ายจึงอยากให้รัฐมองเห็นความทุกข์กับการเจอน้ำเค็มในระดับนี้จึงได้ยื่นหนังสือต่อภาครัฐ.