นายก อบต.อ่าวนาง กระบี่ จวก อุทยานฯ ผุดท่าเรือ-ทำทางเดินเชื่อม อ่าวโล๊ะซามะ ไม่ฟังคำท้วงติง-ข้อเสนอแนะของชุมชนในพื้นที่ หวั่น ปะการังน้ำตื้น ที่สวยงามใต้อ่าว ได้รับความเสียหาย
จากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศปิดอ่าวมาหยา ที่จ.กระบี่ ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2561 โดยให้เหตุผลว่า ต้องการฟื้นฟูธรรมชาติ บริเวณอ่าวมาหยา พร้อมกับเสนอแนวทางการเปิดอ่าวอีกครั้ง ในปี 2564 พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องการเข้าออกอ่าวมาหยา จนมีการเสนอจะสร้างท่าเรือ บริเวณด้านหลังของอ่าวมาหยา คืออ่าวโล๊ะซามะ พร้อมทั้งทำทางเดินเชื่อมต่อ 2 อ่าวนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ได้เกิดกระแสคัดค้าน โครงการก่อสร้างท่าเรืออ่าวโล๊ะซามะ ในกลุ่มผู้ประกอบการ ชาวบ้าน และผู้นำท้องถิ่น บนเกาะพีพี ซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส 0915.507/ ว 344 แจ้งไปยังชมรมเรือท่องเที่ยวบนเกาะพีพี ว่า จะมีการขนย้ายอุปกรณ์ในการก่อสร้างทางเดินยกระดับบอร์ดวอล์ก เชื่อมต่ออ่าวมาหยากับอ่าวโล๊ะซามะ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก บนอ่าวมาหยา อาทิ ระเบียงชมหาด ที่นั่งพักผ่อน แยกเป็น 2 โครงการ ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 17 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณอ่าวมาหยา งบประมาณ 6,060,000 บาท และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ก่อสร้างทางเดินยกระดับ ระเบียงชมวิว พร้อมม้านั่งอเนกประสงค์บริเวณอ่าวมาหยา งบประมาณ 11,580,000 บาท
...
ทั้งนี้ ภายหลังมีการประกาศแจ้งดังกล่าวออกมา ทำให้บรรดาชาวบ้าน ผู้ประกอบการบนเกาะพีพี พากันแปลกใจกับการดำเนินการของอุทยานฯ ที่เร่งดำเนินการกันโดยไม่มีการแจ้งให้ชุมชนในพื้นที่รับทราบมาก่อน ซึ่งนายวรพจน์ ออกมาชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า โครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก บริเวณอ่าวมาหยา โครงการแรก สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก จุดจอดรับ-ส่งนักท่องเที่ยว สร้างบริเวณด้านหลังของอ่าวมาหยาหรือ อ่าวโล๊ะซามะ โครงการที่ 2 สร้างทางเดินต่างระดับหรือสะพานทางเดิน ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมวิวของอ่าวมาหยา และจะไม่มีนักท่องเที่ยวเดินลงมาเหยียบย่ำตามชายหาดเหมือนที่ผ่านมา พร้อมกับจำกัดจำนวนเข้าชมของนักท่องเที่ยวเป็นรอบๆ รอบละไม่เกิน 375 คน ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้ผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการที่ปรึกษาการจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ซึ่งจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหลายคนด้วยกัน
นายปิยะวัฒน์ ขุนบรรเทิง อายุ 52 ปี หนึ่งในผู้ประกอบการบนเกาะพีพี กล่าวว่า หากมีการใช้พื้นที่อ่าวโล๊ะซามะ เป็นท่าเรือสำหรับเข้าเที่ยวชมอ่าวมาหยา เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะแนวปะการังใต้อ่าวโล๊ะซามะ ซึ่งเป็นปะการังน้ำตื้นที่ยังสมบูรณ์ นอกจากนี้ ปัญหาขยะที่จะเกิดขึ้นจากทางเดินบอร์ดวอล์ค ระยะทางหลายร้อยเมตร ซึ่งจะยากต่อการดูแลรักษา ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการ และชาวบ้าน เคยเสนอแนะ ให้กรมอุทยานฯ พิจารณาทบทวนอีกครั้งกับโครงการดังกล่าว โดยเสนอให้มีการสร้างท่าเรือแบบลอยน้ำ บริเวณด้านหน้าอ่าวมาหยาแทน และให้เรือรับส่ง นักท่องเทียวบริเวณด้านหน้าอ่าวมาหยา แต่ห้ามเข้ามาจอดในบริเวณอ่าว โดยให้เลือกจุดที่ไม่กระทบต่อการฟื้นฟูปะการังที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ แต่ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของชาวบ้านถูกหมางเมิน
ขณะที่นายพันคำ กิตติธรกุล นายก อบต.อ่าวนาง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยอมรับว่าการดำเนินโครงการของอุทยานฯ ตนและผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งชาวบ้านในชุมชน ไม่เคยรับทราบเรื่องนี้มาก่อนเลย ที่ผ่านมาทาง อบต.และชาวบ้าน ต่างยอมรับในการเข้ามาดำเนินการจัดระเบียบของอ่าวมาหยา ตนและชาวบ้าน ต้องการให้ปิดอ่าวในช่วงโลว์ซีซั่นเพื่อให้ธรรมชาติในอ่าวมาหยาได้ฟื้นตัว แต่สุดท้ายก็มีการปิดอ่าวโดยไม่มีกำหนด ผลจากการปิดอ่าวไปสร้างผลประโยชน์ให้กับใคร รายได้ท้องถิ่นต้องขาดหายไป ก่อนนี้ตนเรียกร้องให้มีการติดตั้งทุ่นผูกเรือให้เยอะๆ หน้าอ่าวมาหยา เพื่อให้เรือได้ใช้จอด ไม่ต้องเข้ามาในบริเวณอ่าว แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับ จึงเกิดข้อข้องใจว่า ทำไมอุทยานฯ ดำเนินการโดยไม่แจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ และท้องถิ่นรับทราบ เพราะโครงการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ กระทบต่อชุมชน
...
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กลุ่มชาวบ้านมองว่า ทางอุทยานฯ ไม่ให้ความสนใจกับข้อท้วงติง หรือข้อเสนอแนะของชาวบ้านในชุมชน เพราะกลุ่มชาวบ้านเห็นว่า หากมีการนำเรือโดยสารเข้ามาจอดรับส่ง นักท่องเที่ยวบริเวณอ่าวโล๊ะซามะ จำนวนมากในแต่ละวัน จะมีตะกอนทรายที่เกิดจากใบพัดเรือ ถูกพัดไปทับถมปะการังใต้อ่าวจนได้รับความเสียหาย โดยปะการังใต้อ่าวโล๊ะซามะ ยังมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งปะการังอ่อน ปะการังแข็ง ดอกไม้ทะเล กัลปังหา และยังเป็นที่พักของสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยก่อนนี้มีนักท่องเที่ยวที่นิยมการดำน้ำ พากันมาดำน้ำชมความงามของอ่าวนี้ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่ม นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาสัมผัสอ่าวโล๊ะซามะ ต่างแสดงความไม่เห็นด้วย หากต้องใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นท่าเรือ เพราะเกรงจะเป็นการทำลายทรัพยากรที่ยังเหลืออยู่ให้พังลงไปอีก พร้อมทั้งเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ ทบทวนโครงการนี้อีกครั้ง พร้อมทั้งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากชาวบ้านในพื้นที่ด้วย.