ภาพ : บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สร้างโดดเด่นอยู่หน้าสวนสาธารณะ ซึ่งออกแบบอย่างสวยงาม.

ปัจจุบันแม้ว่าสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนจะกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่จำกัดก็ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง

ด้วยเหตุผลนี้เอง “โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช จึงได้ถือกำเนิดขึ้น นอกจากจะเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ยังเป็นสถานที่รักษาผู้ป่วยในภาคใต้ตอนบนด้วย

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ในการพัฒนามหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายชัดเจนที่จะให้มหาวิทยาลัยของไทย ติดอยู่ในอันดับ 100 ของโลก ภายในปี 2570

...

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงได้เสนอตัวเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย นั่นหมายความว่าใน 8 ปีข้างหน้า ต้องพัฒนาขนานใหญ่เพื่อยกระดับในทุกมิติ ทุกด้าน ขณะนี้มั่นใจว่ามีความพร้อม ไม่ด้อยไปกว่าใคร

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดนำร่องให้บริการกับผู้ป่วยที่อาคารวิจัยวิทยาการสุขภาพ.
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดนำร่องให้บริการกับผู้ป่วยที่อาคารวิจัยวิทยาการสุขภาพ.

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ สร้างด้วยงบประมาณ 2,128 ล้านบาท บนพื้นที่ 405 ไร่ ประกอบด้วย อาคารอำนวยการ (อาคาร A) ขนาด 5 ชั้น อาคารโรงพยาบาล (อาคาร B, C และ D) ขนาด 9 ชั้น และกลุ่มอาคารบ้านพักบุคลากร ได้แก่ อาคาร R1 บ้านพักสูง 4 ชั้น ขนาด 160 หน่วย อาคาร R2 บ้านพักบุคลากรโสด สูง 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง 80 หน่วย อาคาร R3 บ้านพักบุคลากรครอบครัว 3 หลัง หลังละ 60 หน่วย อาคาร R4 และบ้านพักเดี่ยว 2 ชั้น จำนวน 25 หน่วย

ขณะนี้การก่อสร้างระยะแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว 100% ส่วนระยะที่ 2 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณจำนวน 950 ล้านบาท เพื่อใช้ในการตกแต่งภายใน รวมถึงงานระบบต่างๆ งานสารสนเทศ เครื่องมือทางการแพทย์

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา อดีต ผวจ.นครศรีธรรมราช, ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารและบุคลากร โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันเปิดตัวโรงพยาบาล.
นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา อดีต ผวจ.นครศรีธรรมราช, ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถ่ายภาพร่วมกับผู้บริหารและบุคลากร โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันเปิดตัวโรงพยาบาล.

...

ในปี 2564 จะสามารถเปิดให้บริการได้จำนวน 120 เตียง และปี 2565 จำนวน 419 เตียง ตามลำดับ ระยะต่อไปจะขยายให้ครบ 750 เตียง

เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ของภาคใต้ตอนบน มีบุคลากรทางการแพทย์ไม่น้อยกว่า 3,000 คน รองรับการให้บริการเฉลี่ยปีละ 5-6 แสนคน จะเป็นโรงพยาบาลที่ก้าวหน้าที่สุด ทันสมัยที่สุดในภาคใต้ตอนบน เพื่อเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในภาคใต้ตอนบน

คณะผู้บริหารโรงพยาบาล ให้การต้อนรับ ส.ส.นครศรีธรรมราช นำคณะเข้าเยี่ยมชม.
คณะผู้บริหารโรงพยาบาล ให้การต้อนรับ ส.ส.นครศรีธรรมราช นำคณะเข้าเยี่ยมชม.

ที่ผ่านมาผู้ป่วยต้องเดินทางไกลเข้ากรุงเทพฯบ้าง เข้า มอ.บ้าง ฉะนั้นจะพัฒนาศูนย์การแพทย์ให้ทันสมัยสามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้ ไม่ให้พี่น้องประชาชนต้องเดินทางไกลอีก

“เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ มูลนิธิศรีธรรมราช นำโดย นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และ เจ้าอาวาสวัดเขาเหล็ก ได้มาสร้างอาคารสงฆ์ให้อีก 1 หลัง เป็นการระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งหมด ขั้นต้น 70 เตียง มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท แต่ขณะนี้มีผู้ใจบุญร่วมสมทบทุนจำนวนมาก หากระดมทุนได้ถึง 500 ล้านบาท ก็จะขยายเตียงเพิ่มขึ้น”

...

ศ.ดร.สมบัติ กล่าวและเผยอีกว่า จุดมุ่งหมายจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์แห่งเดียวในภาคใต้ตอนบนที่มีอาคารสงฆ์อาพาธโดยเฉพาะ หมายความว่าเมื่อพระสงฆ์อาพาธและเข้ารับการรักษา จะได้พักพื้นที่อาคารสงฆ์อาพาธแห่งนี้ ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน

นายจิมมี่ ชวาลา ประธาน กก.กองทุนโรงพยาบาล ถ่ายภาพกับผู้บริหาร.
นายจิมมี่ ชวาลา ประธาน กก.กองทุนโรงพยาบาล ถ่ายภาพกับผู้บริหาร.

นอกจากนี้ยังปรับปรุงเส้นทางเข้า-ออก เพื่อรองรับผู้ป่วย โดยประสานกับทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ขยายถนนเพิ่มเติมจากเดิม 4 เลน เป็น 6 เลน ซึ่ง กรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ส่วนบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลได้ขอให้ กรมชลประทาน ทำ “แก้มลิง” สำหรับเก็บน้ำและน้ำที่ได้จะนำมาใช้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ชาวบ้านใน ต.โพธิ์ทอง อ.ท่าศาลา นำไปใช้ในการผลิตน้ำประปา ส่วนที่ 2 เป็นแหล่งน้ำสำรองของศูนย์การแพทย์

เรื่องน้ำของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์จะมีเพียงพอหรือไม่นั้น ขอให้มั่นใจได้ว่ามีบริการต่างๆ ครบถ้วนและสามารถดูแลประชาชนได้ตามเป้าหมาย

รัฐบาลมุ่งมั่นมากที่จะให้โรงพยาบาลเป็นสถานพยาบาลระดับตติยภูมิ เป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีโรคสลับซับซ้อน เป็นระดับที่เป็นมาตรฐานของโรงเรียนแพทย์ทั้งประเทศ ที่อาจารย์แพทย์จะต้องทำหน้าที่ทั้งรักษาโรคและทำการวิจัยเกี่ยวกับโรค

...

บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ให้การต้อนรับผู้ป่วยที่ไปรับบริการ.
บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ให้การต้อนรับผู้ป่วยที่ไปรับบริการ.

“มีคนถามว่าจะหาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญมาอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ได้อย่างไร ผมได้ไปติดต่ออาจารย์แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงแล้ว เช่น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดและอื่นๆ เพื่อให้ท่านมาช่วยดูแล รักษาพิเศษ เช่น วันอาทิตย์ครึ่งวัน เมื่อมีผู้ป่วยก็นัดมารักษากับท่าน และแพทย์ของเราก็จะได้ฝึกและเรียนรู้ไปด้วย ในอนาคตเมื่อแพทย์ของเรามีความเชี่ยวชาญ จะได้ดูแลผู้ป่วยเองได้มากขึ้น” รศ.ดร.สมบัติ ย้ำ

สำหรับสวนบริเวณหน้าโรงพยาบาล นายกัมพล ตันสัจจา เจ้าของสวนนงนุช ได้แวะมาดูและให้เป็นของขวัญด้วยการทำสวนแบบฝรั่งเศส ทีมงานของท่านรวม 60 คน ได้ขนต้นไม้มาจาก จ.กาญจนบุรี ช่วยกันพัฒนาปรับปรุงจนแล้วเสร็จสวยงามตระการตา อีก 1-2 ปี ต้นไม้ชนิดต่างๆ จะเจริญเติบโต

“ผมและผู้บริหารมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เรามีความพร้อมทุกมิติ ในการพัฒนายกระดับไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จะเป็นความภาคภูมิใจของชาวนครศรีธรรมราช และประชาชนทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน” ศ. ดร.สมบัติ กล่าวยืนยัน.

สิวะ พันธภาค