ทช.เตือนภัย นักท่องเที่ยว-ปชช.หลังพบ "หมึกสายวงน้ำเงิน" มีพิษร้ายแรงถึงตายในเวลาไม่นาน หากถูกกัด ชี้ พิษรุนแรงกว่างูเห่า 20 เท่า ในพื้นที่ทะเล จ.ชุมพร

วันที่ 19 พ.ย. นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากกรณีที่ชาวประมงจับหมึกสายวงน้ำเงิน ได้ที่จังหวัดชุมพร ดูจากภาพลักษณะแล้วหมึกชนิดนี้ มีพิษร้ายแรง ยิ่งตอนป้องกันตัว สีของวงจะเห็นชัดมาก โดยหมึกทะเลชนิดนี้ เป็นจำพวกหมึกสายขนาดเล็ก มีพิษ ต้องระวังไว้ให้มาก มีพิษร้ายแรงกว่างูเห่า 20 เท่า ผู้ถูกกัดอาจจะตายภายใน 2-3 นาที

สำหรับ หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง (Blue-ringed octopus) เป็นหมึกยักษ์จําพวกหนึ่ง แต่มีขนาดเล็กตัวเต็มวัยมีขนาดลําตัว ประมาณ 4-5 เซนติเมตร มี 8 หนวด แต่ละหนวดยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร หมึกสายวงน้ำเงิน มีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไปตรงที่มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน กระจายตามลําตัวและหนวด ซึ่งจะตัดกับสีของลําตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ำตาลอย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ำเงินเหล่านี้ สามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม เนื่องจากหมึกชนิดนี้มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในหลายๆ ประเทศ

...

หมึกสายวงน้ำเงินมีการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต เพศผู้จะตายหลังจากการผสมพันธุ์ เพศเมียจะวางไข่ติดกันเป็นพวงจํานวน 20-300 ฟอง ไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ และใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนเจริญเป็นตัวเต็มวัย โดยมีอายุขัยประมาณ 1 ปี ในเวลากลางวันหมึกสายวงน้ำเงินมักพักหลบอยู่ตามโพรงหินหรือเปลือกหอยแล้วจึงออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเคลื่อนที่ไปตามพื้นหน้าดินเพื่อหากุ้งและปูเป็นอาหารมากกว่าที่จะว่ายน้ำเช่นหมึกชนิดอื่น 

โฆษก ทส.กล่าวต่อว่า หมึกสายวงน้ำเงินมีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ำลาย ผู้ที่ถูกกัดอาจตายได้ภายในไม่นาน จึงนับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่าเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า ทั้งนี้ เตโตรโดท็อกซินที่พบทั้งในหมึกสายวงน้ำเงินและปลาปักเป้าไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของพวกมันเอง เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่มียีนที่ควบคุมการสร้างพิษนี้ มีการศึกษาพบว่าพิษนี้สร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรียในวงศ์ Vibrionaceae, Pseudomanas sp.,Photobacterium phosphorium ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์แบบพึ่งพา (symbiosis) โดยที่แบคทีเรียอาศัยตัวสัตว์เป็นที่อยู่และแหล่งอาหาร ส่วนสัตว์ได้พิษจากแบคทีเรียไว้เป็นอาวุธป้องกันตัวและล่าเหยื่อ

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องหาวิธีนําอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก ฯลฯ จากนั้นต้องรีบนําส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผลผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทําให้สมองตาย สําหรับผู้ที่ได้รับพิษจากหมึกสายวงน้ำเงินควรทําการปฐมพยาบาลในทันทีหลังถูกกัด โดยใช้เทคนิคการกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนไหว เพื่อทําให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขาให้ใช้วัสดุไม้ดามไว้ด้วย ถ้าถูกกัดบริเวณลําตัวในกรณีที่พันได้ให้พันด้วยแต่อย่าให้แน่นจนทําให้หายใจลําบาก และไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทําให้พิษกระจายมากขึ้น โดยเทคนิคนี้เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ก่อนนําผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
    

นายโสภณ อธิบดี ทช. กล่าวทิ้งท้ายว่า "ดังนั้น ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยว หากพบเห็นหมึกชนิดนี้ตามสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล ห้ามจับเล่นหรือนำมาประกอบอาหารโดยเด็ดขาด เพราะพิษของหมึกชนิดนี้ไม่สลายแม้เมื่อโดนความร้อน ส่วนพฤติกรรมไม่มีนิสัยดุร้าย แต่หากพบว่ามีภัย วงน้ำเงินบนตัวจะเข้ม แล้วพุ่งเข้าหานั้นคือพฤติกรรมเพื่อป้องกันตัว ทางที่ดีหากเจอควรจะหลีกเลี่ยงหรืออย่าไปทำอะไร แม้เพียงสัมผัสก็ไม่ควรทำ ปล่อยให้ไปตามธรรมชาติแล้วจะปลอดภัย
 

อย่างไรก็ตาม หมึกชนิดนี้มีรายงานว่าเคยพบในทะเลไทยบ้างแล้ว โดยเฉพาะแถว จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร อาศัยอยู่ตามพื้นทราย พื้นทะเล ออกหากินเวลากลางคืน จับพวกกุ้งพวกปลากินเป็นอาหาร แต่พบได้ไม่บ่อยนัก หากเจอหมึกชนิดนี้ ไม่ต้องไปทำร้าย แค่หลีกเลี่ยงทางใครทางมันก็พอ อีกทั้ง ยังไม่พบรายงานว่ามีคนไทยถูกหมึกชนิดนี้กัดแต่อย่างใด แต่ก็ควรระมัดระวังไว้

ทั้งนี้ หากประชาชน ชาวประมง และนักท่องเที่ยว พบเห็นหมึกสายวงน้ำเงินที่บริเวณทะเลในประเทศไทย สามารถแจ้งมายังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เบอร์โทรศัพท์ 02-141-1300 หรือสายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม GreenCall โทร.1310 เพื่อที่ทางกรมฯ จะได้เก็บข้อมูลการพบเจอหมึกชนิดนี้ ไปศึกษาและวิจัยทางวิชาการต่อไป"

...