ทีมวิจัย ม.ราชภัฏภูเก็ต แนะ สปาเพื่อสุขภาพในภาคใต้ เพิ่มความสามารถการแข่งขันระดับสากล เพื่อเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพในนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วันที่ 11 พ.ย. มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้จัดการสัมมนานำเสนอผลการศึกษา แผนงานวิจัยเรื่อง "การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ สู่การเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล" โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการภารกิจการ จัดทำแผนงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดงาน
ดร.พุทธพร อักษรไพโรจน์ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้สนับสนุนทุนการดำเนินงานแผนงานวิจัยและนวัตกรรม (Spearhead) กลุ่มบริการมูลค่าสูง Wellness Tourism ให้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ล่าสุดคณะนักวิจัยได้ดำเนินงานวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว
...
ผลการวิจัยพบว่า การดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีเอกลักษณ์ท้องถิ่น จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมบริการ อันได้แก่ 1.มาตรฐานสปาเพื่อสุขภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแสดงออกถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือ ECO SPA
2.ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้ระบบ Spa Business Information Management System ที่ช่วยรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ เพื่อให้ธุรกิจสปาสามารถนำไปใช้เพื่อวางแผนและดำเนินการทางการตลาดของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สามารถให้บริการได้ตรงกับความต้องการ และตอบสนองต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ปัจจุบันมีธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมากที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล แต่ยังไม่พบความแตกต่างของบริการอย่างชัดเจน ทำให้เกิดการแข่งขันกันด้านราคามากกว่าการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนั้นการสร้างความแตกต่างให้กับสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้โดยนำเอาเอกลักษณ์ท้องถิ่น และการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์รวมกับการบริการสปาจะช่วยสร้างจุดขายและความโดดเด่นดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ สู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลต่อไป
ทั้งนี้ธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้สามารถนำผลการศึกษา/วิจัย ไปเป็นข้อมูลหรือนำไปปรับใช้ เพื่อประกอบการวางแผนเชิงนโยบายทางการตลาด และเพื่อการลดใช้พลังงาน ลดต้นทุน และรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับใช้จากแนวทาง การจัดการขยะ หรือ แนวทาง 3R (Reuse การใช้ซ้ำ Reduce การลดการใช้ Recycle การรีไซเคิล) เช่นการใช้ผ้าใช้น้ำให้เกิดความคุ้มค่า หรือการใช้บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะจากทรัพยากรท้องถิ่น เช่น กะลามะพร้าว อีกทั้งการนำวิถีหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาช่วยเพิ่มมูลค่าในกระบวนการการให้บริการ อาทิ ผ้าปาเต๊ะหรือบาติกที่นำมาตกแต่งทั้งชุดพนักงาน ปรับใช้เป็นผ้าคลุมเตียงนวด ผ้าคลุมเบาะรองนั่ง ผ้าคลุมโต๊ะ โดยเฉพาะการนำผ้าถุงมาเป็นผ้าคลุมหรือนุ่งอาบน้ำ ที่ผลการศึกษาพบว่า สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว และสนใจซื้อกลับไป จนสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพได้เพิ่มสูงขึ้น.
...