“งานชิงเปรต” วันสารทเดือนสิบเป็นอัตลักษณ์ประเพณีความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาว จ.นครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษทั้งปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว

หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี จะต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ลูกหลานจึงพากันจัดพิธีกรรมสารทเดือนสิบขึ้นด้วยการนำเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคไปถวายพระ อุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษของตน

โดยวันขึ้น 15 ค่ำลูกหลานพากันไปวัดทำบุญเพื่อรับตายาย กระทั่งวันแรม 1 ค่ำ เปรตถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน และจะกลับไปนรกในวันแรม 15 ค่ำ ในโอกาสนี้ลูกหลานพากันนำอาหารหวานคาวไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญู

ขณะที่พิธีกรรมสารทเดือนสิบ ในวันแรม 13 ค่ำ ลูกหลานจะจัดเตรียมสิ่งของ อาหาร ขนม ลงภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กะละมัง ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองบรรจุพืชผัก ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ชั้นบนสุดประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ

ขนมแต่ละชนิดจะมีความหมาย อาทิ ขนมลา แทนเสื้อผ้าให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม ขนมบ้า แทนลูกสะบ้าใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ ขนมพอง เปรียบเป็นพาหนะข้ามห้วยแห่งทุกข์และบาปหรือเวร ขนมดีซำ แทนเงินตราและ ขนมกง แทนเครื่องประดับ

ส่วนวันแรม 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ ลูกหลานจะยกสำรับที่จัดไปวัด เสร็จจากถวายภัตตาหารแล้วลูกหลานจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามลานวัด เพื่อแผ่ส่วนบุญกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติที่ไม่มา

ร่วมทำบุญ ให้เรียกว่า “การตั้งเปรต”

เมื่อแผ่ส่วนบุญกุศลแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มและเด็กๆจะเฮโลกันเข้าไปแย่งขนมที่ตั้งเปรต แย่งกันโกลาหล เพราะถือว่าการที่ได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้นเป็นสิริมงคล จึงเรียกการแย่งขนมว่า “การชิงเปรต”

...

ขณะที่งานประเพณีสารทเดือนสิบเมืองนคร และงานกาชาดจังหวัดปีนี้ จัดที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) วันที่ 22 ก.ย.–1 ต.ค.

สิวะ พันธภาค