พื้นที่ปลายด้ามขวานชายแดนไทย–มาเลเซีย อย่าง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ที่มีแม่น้ำสุไหงโก–ลก ไหลจากต้นน้ำเทือกเขาสันกาลาคีรีผ่านสุคิริน–แว้ง–สุไหงโก–ลก ก่อนลงทะเลที่ อ.ตากใบ เป็นเส้นแบ่งพรมแดน

เป็นพื้นที่น่าจับตามอง...เพราะประชากรส่วนใหญ่นอกจากยึดอาชีพทำเกษตร มีรายได้หลักจากขายผลไม้ ขายยางพารา แล้วยังมีอาชีพ ร่อนทอง ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

เนื่องจากใต้ผืนดินเป็นแอ่งกระทะ มีสายน้ำที่ไหลผ่านในพื้นที่ ต.ภูเขาทอง มีเกล็ดแร่ทองคำเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ฝังปะปนอยู่ใต้ดินมากมาย มหาศาล ถึง 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านไอร์ปาโจ หมู่ 2 บ้านภูเขาทอง หมู่ 3 บ้านโต๊ะโมะ หมู่ 4 บ้านไอร์กือเปาะ และหมู่ 8 บ้านวังน้ำเย็น

นายอรุณ ศรีใส นายอำเภอสุคิริน บอกว่า ตามประวัติการพบแหล่งแร่ทองคำนั้น เมื่อปี พ.ศ.2473 มีชาวอังกฤษนำเครื่องจักรเข้ามาติดตั้ง ทำการขุดหาแหล่งแร่ทองคำในป่าดงดิบ กลางหุบเขาบ้านโต๊ะโมะ ต.ภูเขาทอง อยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้เลิกกิจการไป

ต่อมาปี พ.ศ.2475 บริษัทฝรั่งเศส เข้ามาสำรวจอีกครั้งพบว่า ลึกลงไปในผืนดินของขุนเขาโต๊ะโมะมีแร่ทองคำบริสุทธิ์ฝังอยู่มากมาย จึงขอสัมปทานจากรัฐบาลไทยเพื่อทำเหมืองทองคำเป็นเวลา 20 ปี โดยมีราษฎรอพยพเข้ามาเป็นกรรมกรเหมืองจำนวนมาก จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเหมืองทองคำจึงต้องปิดตัวลง

ทุกลำคลองสาขาของแม่น้ำสายบุรีที่ไหลผ่าน ต.ภูเขาทอง มีเกล็ดแร่ทองคำไหลตามมาด้วย ชาวบ้านยึดอาชีพการร่อนเกล็ดทอง เพื่อนำไปขายในราคากรัมละ 1,500 บาท มาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว

เพื่อรองรับนโยบายการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองของรัฐบาล จึงอาศัยความได้เปรียบทางธรรมชาติที่สวยงาม และยังมีแหล่งแร่ทองคำในสายน้ำมาพัฒนาและต่อยอด เพื่อให้เป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้หันมาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านมากขึ้น

...

นับเป็นพื้นที่ที่น่าไปเยือนเพื่อชมธรรมชาติและศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านอีกแห่งหนึ่ง!!!

อมรรัตน์ เข็มขาว / รายงาน