สลดซ้ำสองพะยูนกำพร้า “ยามีล” ช็อกตายหลังเข้า รับการผ่าตัดเพื่อนำก้อนหญ้าทะเลอุดตันออกจากระบบทางเดินอาหารได้ไม่กี่ชั่วโมง โดยใช้วิธีการเป่าลมให้กลุ่มหญ้าสลายตัว แต่ทำได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ต้องหยุดเกรงจะทนไม่ไหว นำกลับบ่ออนุบาล แต่มีอาการซึม ลอยตัวไม่ได้ กระทั่งเกิดช็อกหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิตตอน สามทุ่มเศษ สิ้นคู่ขวัญ “มาเรียม-ยามีล” อย่างน่าสลดใจ

หนีไม่พ้นชะตากรรม พะยูนกำพร้า “ยามีล” ช็อกตายหลังเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนหญ้าทะเลอุดตันออกได้ไม่กี่ชั่วโมง โดยเมื่อตอนสายวันที่ 22 ส.ค. เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยผลการตรวจรักษาพะยูนยามีลว่า เช้านี้ยังมีการสะสมของแก๊สในกระเพาะอาหารและบริเวณลำไส้ มีอัตราการเต้นหัวใจสูงและชักเกร็งเป็นบางครั้ง จึงให้ยาช่วยลดอาการปวดและยาซึม ส่วนผลเอกซ์เรย์พบว่าอาหารส่วนที่เป็นของเหลวเคลื่อนที่ผ่านระบบทางเดินอาหารได้ แนวทางการรักษาวันนี้จะพยายามนำอาหารซึ่งเป็นหญ้าทะเลที่ค้างในกระเพาะออกมา เพื่อลดการหมักหมม และให้สารน้ำและเกลือแร่ผ่านทางท่อให้อาหารร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะ สถานะยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ขณะที่มีประชาชนเฝ้าติดตามอาการ “ยามีล” เป็นจำนวนมาก มีผู้กดไลค์ถึง 6,000 คน และมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นถึง 1,000 คน ส่วนใหญ่ให้กำลังใจน้องยามีลให้หายป่วยโดยเร็ว รวมทั้งให้กำลังใจทีมสัตวแพทย์ในการรักษาเยียวยาพะยูนน้อย

ต่อมาเวลา 17.00 น. ทีมสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน ร่วมกับทีมแพทย์ รพ.วชิระภูเก็ต นำยามีลขึ้นรถพยาบาลไปทำการผ่าตัดที่ รพ.วชิระภูเก็ต โดยใช้กล้อง Endoscope สอดเข้าทางหน้าท้องผ่าตัดนำก้อนหญ้าทะเลอัดแน่นในกระเพาะอาหาร ใช้วิธีการเป่าลมให้กลุ่มหญ้าในลำไส้สลายตัว แต่ทำได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณหญ้าที่อุดตันก็ต้องหยุด เพราะเกรงร่างกายยามีลจะรับไม่ไหว จากนั้นเจ้าหน้าที่นำร่างยามีลห่อผ้าชุบน้ำนำกลับบ่ออนุบาลเพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิด

...

อาการอุดตันของก้อนหญ้าทะเล ทีมสัตวแพทย์คาดว่าเกิดจากสภาวะลำไส้หยุดทำงาน ที่พบได้ในเด็กทั่วไป ทำให้อาหารในระบบทางเดินอาหารไม่เคลื่อนที่ เป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมและเกิดการสร้างแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ผนังลำไส้บางลง และเกิดการแตกของเส้นเลือดฝอย เกิดภาวะการติดเชื้อตามมา แก๊สที่เกิดขึ้นยังดันบริเวณปอด ทำให้การหายใจติดขัดด้วย

หลังถูกนำกลับมาไว้ที่บ่ออนุบาล ยามีล มีอาการซึม เคลื่อนไหวน้อย ระหว่างลอยตัวอยู่ในน้ำ ต้องมีสัตวแพทย์คอยอุ้มตลอดเวลา กระทั่งเวลา 20.30 น. ยามีลมีอาการช็อก สัตวแพทย์ช่วยกันทำ ซีพีอาร์ยื้อชีวิตแต่ไม่สำเร็จ ยามีลจากไปอย่างสงบ

เมื่อเวลา 21.35 น. จบชีวิตพะยูนน้อยคู่ขวัญ “มาเรียม” อย่างน่าเศร้าใจ ส่วนความคืบหน้าการสตัฟฟ์ “มาเรียม” ที่เสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติก เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และเป็นเครื่องเตือนใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทะเล ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผอ.พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กล่าวว่า ทีมนัก Taxidermy ผู้เชี่ยวชาญด้านสตัฟฟ์สัตว์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กำลังวางแผนและหารือถึงวิธีการที่เหมาะสมที่สุด คาดว่า จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ

นายวัชระ สงวนสมบัติ ผอ.กองวัสดุอุเทศธรรมชาติวิทยา นัก Taxidermy ผู้เชี่ยวชาญด้านสตัฟฟ์สัตว์ของ อพวช. กล่าวว่า อพวช.ได้เก็บรักษามาเรียมลูกพะยูนเอาไว้ในห้องแช่แข็งลบ 20 องศา เพื่อคงสภาพผิวหนังไม่ให้เน่าเปื่อย ส่วนการสตัฟฟ์ คือ การนำหนังของสัตว์ที่ตายลงมาทำการรักษาสภาพไว้ให้ใกล้เคียงกับตอนมีชีวิต โดยไม่มีโครงกระดูกและกะโหลกศีรษะ ต้องรอปรึกษากับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายอีกครั้งก่อน ความยากของการสตัฟฟ์ครั้งนี้ คือการรักษาสภาพหนังของมาเรียม เพราะมีไขมันค่อนข้างหนามากแทรกอยู่ ต้องนำหนังผ่านกระบวนการเพื่อให้ไขมันออกจากหนังให้มากที่สุด มิฉะนั้นหนังจะไม่แห้ง ไม่สามารถขึ้นรูปได้ อีกทั้งจะเกิดการเปื่อยยุ่ย ขึ้นรา เน่าเสียได้ง่าย นอกจากการสตัฟฟ์แล้วยังสามารถต่อโครง กระดูกมาเรียมไว้ศึกษาต่อได้ โดยทำหุ่นจำลองไว้หลายๆที่