ทีมสัตวแพทย์เฝ้าจับตาดูอาการพะยูนน้อย “ยามีล” เริ่มป่วยมีอาการเกร็งท้อง มีแก๊สสะสมในลำไส้เล็ก อาหารค้างอยู่ในกระเพาะ ไม่มีการเคลื่อนตัวเกิดการอุดตันของระบบทางเดินอาหาร แต่ยังไม่พบวัตถุแปลกปลอม ยังไม่ฟันธงสาเหตุเกิดจากอาหาร เครียด หรือภูมิคุ้มกันมีปัญหา เตรียมนำเครื่องส่องกล้องส่องดูหาสาเหตุ รมว.ทส.ตอบกระทู้การจัดการขยะทะเล ผลักดันเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด เพิ่มเรือเก็บขยะ และสร้างโครงการกระตุ้นเรื่องวินัยในการทิ้งขยะ
การตายของพะยูนกำพร้าวัย 9 เดือน “มาเรียม” พบเศษพลาสติกอุดตันปลายลำไส้ใหญ่ เชื่อเป็นสาเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงจนตาย ได้จุดกระแสอนุรักษ์ฝูงพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ระบบนิเวศในทะเลไทย รวมทั้งการจัดการขยะทะเลโดยเฉพาะพลาสติก ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายากทั้งเต่าทะเล โลมา วาฬ และพะยูน ขณะที่ประชาชนที่รักพะยูนน้อย “มาเรียม-ยามีล” ต่างอดเป็นห่วงกังวลถึงความปลอดภัยของพะยูนน้อย เพศผู้ “ยามีล” เกรงจะประสบชะตากรรมเดียวกัน
...
ในที่สุดพะยูนน้อย “ยามีล” เริ่มออกอาการเจ็บป่วยซ้ำรอย “มาเรียม” โดยเมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 21 ส.ค. เว็บเพจ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้โพสต์ข้อความ โดยทีมสัตวแพทย์ของศูนย์วิจัย ทช.ทะเลอันดามัน รายงานสุขภาพของน้องยามีล ตรวจพบอาการเกร็งท้องมาตั้งแต่ช่วง 20.00 น. วันที่ 19 ส.ค. ทีมสัตวแพทย์เฝ้าสังเกตอาการ โดยอาการดังกล่าวยังเป็นต่อเนื่อง ทีมสัตวแพทย์ให้ยาลดอาการอักเสบร่วมกับยากระตุ้นทางเดินอาหารพร้อมสอดท่อระบายแก๊ส ทำให้ยามีลมีอาการดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีอาการเกร็งท้อง ต่อมาได้เอกซเรย์พบลำไส้เล็กมีการสะสมของแก๊สเป็นจำนวนมาก กระเพาะอาหารมีอาหารอยู่แต่ไม่มีการเคลื่อนตัว แต่ไม่พบวัตถุแปลกปลอม
อาการล่าสุดเวลา 07.00 น. น้องยามีลยังมี อาการปวดเกร็งบริเวณท้อง จะทำการเอกซเรย์อีกครั้ง พร้อมให้ยาลดอาการปวด ทีมสัตวแพทย์วินิจฉัยว่าอาจเกิดการบิดหมุนของลำไส้ ทำให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากภาวะท้องผูกก่อนหน้านี้ หรือลักษณะการว่ายน้ำที่มีการบิดตัวอย่างรวดเร็ว แนวทางการรักษา ทีมสัตวแพทย์จะพยายามระบายแก๊สออกร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะและกระตุ้นการทำงานของทางเดินอาหาร ทั้งนี้น้องยามีลยังอยู่ในช่วงการรักษา ทางทีมสัตวแพทย์พิจารณาแล้วอาจเกิดภาพที่ไม่เหมาะสม จึงขอปิดการแพร่ภาพจากกล้อง CCTV ชั่วคราวก่อนในช่วงนี้และจะอัปเดตอาการให้ทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า พะยูนยามีลมีอาการท้องอืด ขณะนี้ ทช.ระดมกำลังกันเต็มที่เพื่อรักษา ล่าสุดได้นำเครื่องส่องกล้องจาก รพ.วชิรพยาบาลไปส่องดูสาเหตุของอาการว่าเกิดจากอะไร มาจากอาหาร หรือความเครียดหรือภูมิคุ้มกันมีปัญหา อย่าลืมว่าตอนที่ ทช.รับยามีลมาดูแล อาการหนักกว่ามาเรียมค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ช่วยกันเต็มที่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ (ทส.) ได้แสดงความห่วงใยยามีลและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และขอให้ช่วยกันเต็มที่ หากมีอะไรขาดหรือต้องการเครื่องมืออะไรให้แจ้งมาได้
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณากระทู้ถาม โดยนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งคำถามถึงปัญหาขยะในทะเลว่า เรามี 23 จังหวัดที่ติดทะเล มีขยะประมาณ 30,000 ตัน ลงสู่ทะเล อยากถาม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า จะทำให้ประเทศไทยที่ติดอันดับมีขยะมากให้ลดลงได้อย่างไร และโครงการเครื่องดักเก็บขยะในน้ำดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ขยะพลาสติกเมื่อลงสู่ทะเลแล้วย่อยยาก ตัวอย่างเรื่องพะยูนมาเรียม กลับต้องมารับกรรมตายเพราะพลาสติก เราต้องรณรงค์อย่างจริงจัง กระแสมาเรียมอย่าให้เป็นไฟไหม้ฟาง
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เราติดตั้งเครื่องดักขยะไปแล้ว 24 จุด เก็บได้ถึง 16 ตัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกและโฟม เครื่องมือนี้เหมาะกับแม่น้ำขนาดเล็ก ยังเหลืออีก 125 จุด เราร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตอุปกรณ์ และทยอยมอบให้องค์กรท้องถิ่นไปบ้างแล้ว วันนี้พี่น้องคนไทยคงได้ตระหนักว่า ทิ้งขยะชิ้นเดียวทำให้คนไทยทั้งประเทศเสียใจกับการจากไปของน้องมาเรียม เราพยายามผลักดันให้เลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 นอกจากนี้ทางกระทรวงได้จัดหาเรือเก็บขยะเพิ่มขึ้นอีก 7 ลำจากเดิมที่มีอยู่ 2 ลำ ให้ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งให้มากที่สุด แต่หากคนยังทิ้งขยะอยู่ปัญหาจะไม่หมดไป เราจะสร้างโครงการมาเรียม กระตุ้นให้คนมีวินัยในการทิ้งขยะ ป้องกันเหตุการณ์น้องมาเรียมเกิดขึ้นอีกในอนาคต จะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาป่าและทะเลเพื่อลูกหลานในอนาคต
ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผวจ.กระบี่ กล่าวถึงปัญหาการตายของสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเล จ.กระบี่ ว่า เกิดจากปัจจัยแวดล้อมหลายปัจจัย ทั้งตายโดยสาเหตุทางธรรมชาติ ติดเครื่องมือประมง รวมทั้งเสียชีวิตจากการกินขยะในทะเล แต่ยังมั่นใจว่าพื้นที่กระบี่ยังเป็นทะเลที่ปลอดภัยที่สุด มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านในพื้นที่มีจิตสำนึกที่ดีพอในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้ ตนกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กำหนดมาตรการในการดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาอีก รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชน และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในเรื่องของการทิ้งขยะลงทะเล นอกจากนี้ จะผลักดันให้มีการสร้างแหล่งพักอนุบาลสัตว์ทะเลหายาก กรณีพบสัตว์ทะเลป่วยในพื้นที่ สามารถช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างทันท่วงที
...