ผลผ่าชันสูตรพบซากพะยูนใหญ่ตายที่หน้าหาดอ่าวต้นไทร อ่าวไร่เลย์ ถูกเงี่ยงปลากระเบนแทงท้องจนติดเชื้อจนอาจทำให้ตาย ขณะที่ ผ่าท้องพบเศษขยะบางส่วนแต่ไม่ใช่สาเหตุการตาย
กรณีพบซากพะยูนเพศผู้ ขนาดโตเต็มวัยเสียชีวิตลอยตายอยู่หน้าหาดอ่าวต้นไทร ไร่เลย์ตะวันตก หมู่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ตรวจสอบพบเป็นพะยูน อายุประมาณ 25 ปี ยาว 2.6 เมตร น้ำหนัก 240 กก. จนท.นำซากส่งไปผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562 ผลการผ่าพิสูจน์ซากพะยูนตัวดังกล่าว ทีมสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ติดเชื้อจากบาดแผลบริเวณช่องท้อง เนื่องจาก จนท.พบเศษเงี่ยงปลากระเบน ยาวประมาณ 15 ซม. เสียบติดอยู่ในช่องท้อง จนเกิดการอักเสบ และอาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ขณะที่ผลการตรวจระบบทางเดินอาหาร เจ้าหน้าที่พบเศษขยะพลาสติกเพียงเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าไม่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต
ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยฯ เผยผลการสำรวจการเกยตื้นของพะยูน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการตายของพะยูนในทะเลไทย ระบุผลการสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน พบพะยูนเกยตื้นในทะเลไทยแล้ว 441 ตัว โดยจังหวัดที่พบการตายมากสุด คือ พื้นที่ จ.ตรัง รองลงมาคือ จ.กระบี่ พังงา ระยอง และภูเก็ต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขที่ จนท.รับแจ้ง แต่ยังมีอีกบางส่วนที่ไม่ได้แจ้งให้ จนท.ทราบ ขณะที่สถิติการเกยตื้นเฉพาะปี พ.ศ.2562 พบมีการเกยตื้นตายแล้วรวม 16 ตัว โดยพบในทะเลฝั่งอันดามันทั้งหมด พบมากสุดที่ จ.ตรัง 8 ตัว กระบี่ 5 ตัว พังงา 2 ตัว และสตูล 1 ตัว ถือเป็นตัวเลขการสูญเสียที่อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง
...
นอกจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ โดยจากผลการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น 3 ปีย้อนหลัง พบว่ามีสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 54% โลมาและวาฬ 41% และพะยูน 5% ทั้งนี้ ขยะพลาสติกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ตายลง โดยค่าเฉลี่ยของเต่าทะเลและโลมาเกยตื้น ร้อยละ 2 – 3 เกิดจากการกลืนขยะทะเลเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ส่วนเต่าทะเลที่เกยตื้นจากผลกระทบของขยะทะเล เช่น การเกี่ยวพันของอวน มีสัดส่วนการเกยตื้นสูงถึงร้อยละ 20 – 40 นอกจากนี้สถิติจากกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2561 พบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 6 ประเทศผู้ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด
สถานการณ์ขยะทะเล พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด เกิดขึ้น 11.47 ล้านตัน กําจัดอย่างถูกต้อง 6.89 ล้านตัน นําไปใช้ประโยชน์ 3.02 ล้านต้น และกําจัดไม่ถูกต้อง 1.55 ล้านตัน ส่วนสาเหตุหลักๆ ของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากการทิ้งขยะจากชุมชน นักท่องเที่ยว การประกอบอาชีพทางทะเล และโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังพบว่าขยะที่พบมากที่สุดในทะเล 5 อันดับแรก คือ ถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม โฟม หลอด และเศษเชือก.