ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล เผยผลสำรวจหลังปิดอ่าวมาหยา 1 ปีเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ พบว่านักท่องเที่ยวพึงพอใจ ขณะที่ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ฟื้นตัวดีทั้งปะการัง สัตว์ทะเล และ พืชตามชายหาด

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 นำเสนอข้อมูลสรุปผลการทำแบบสอบถาม นักท่องเที่ยวต่อกรณีการปิดอ่าวมาหยา หมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ โดยเปิดให้ผู้คนได้โหวตผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ของศูนย์ปฏิบัติการฯ ตั้งแต่ วันที่ 1 มิ.ย.61 - 1 มิ.ย.62 เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมี นทท.ที่เคยเดินทางมาเที่ยวอ่าวมาหยา เข้ามาตอบแบบสอบถาม จำนวน 419 คน ปรากฎว่า นทท.ส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการปิดอ่าวมาหยาเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ 406 คน ไม่เห็นด้วย 13 คน หัวข้อย่อยในแบบสำรวจ ระบุคำถามระยะเวลาที่อยากให้ปิดอ่าว นทท.จำนวน 110 คน ต้องการให้ปิดถาวร กิจกรรมที่ นทท.อยากทำที่อ่าวมาหยา คือ ฟื้นฟูปะการัง จำนวน 233 คน ถ่ายรูป 186 คน ศึกษาธรรมชาติ 171 คน ความพึงพอใจของ นทท.ที่ถ่ายรูปอ่าวมาหยาจากบนเรือ โดยไม่ต้องเข้ามาในพื้นที่บนชายหาด

...

จากแบบสอบถาม พบว่า นทท.พึงพอใจวิธีการดังกล่าวสำรวจ 187 คน พึงพอใจ 125 คน เฉยๆ 89 คน ไม่พอใจ 14 คน ไม่พอใจมาก 4 คน นอกจากนี้แบบสำรวจ ยังสอบถามว่า หากอ่าวมาหยายังคงปิดเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นทท.จะยังคงมาท่องเที่ยวที่หมู่เกาะพีพี หรือไม่ ปรากฎว่า นทท.จำนวน 375 คนบอกว่าจะกลับมาเที่ยวอีก นทท.จำนวน 44 คน จะไม่กลับมาเที่ยวที่นี่อีก โดยให้เหตุผลว่ายังมีที่เที่ยวที่อื่นๆ ที่สามารถไปเที่ยวได้

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ระบุอีกว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ปิดอ่าวมาหยา จนท.ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 ร่วมกับ อาสาสมัคร ทั้งในและนอกพื้นที่ นักวิชาการ ร่วมกันทำการการปลูกปะการังเขากวาง โดยวิธี Coral propagation ด้วยการนำกิ่งปะการังมาติดกับก้อนหินโดยใช้กาวที่สกัดจากปะการัง ก่อนนำไปวางในทะเล รวม จำนวน ประมาณ 20,000 ชิ้น พบว่า ส่วนใหญ่มีการแตกหน่อ มีการเจริญเติบโตดี แต่มีบางส่วนที่ตายช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงกว่า 31 องศา บางส่วนหลุดจากก้อนหินที่เป็นฐาน เนื่องจากช่วงหน้ามรสุม มีคลื่นใต้น้ำ ทำให้ก้อนหิน เคลื่อนที่ 

ส่วนสภาพพบชายฝั่ง มีต้นกล้าของพืชชายหาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่ถูกเหยียบย่ำ โดยพบต้นกล้าไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติ ได้แก่ ผักบุ้งทะเล ปอทะเล รักทะเล หูกวาง เป็นต้น โดยเฉพาะผักบุ้งทะเล เพิ่งพบหลังจากการปิดอ่าวมาหยาพบปูลม ปูปั้นทราย บริเวณชายหาดจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนในช่วงก่อนปิดอ่าวมาหยา และที่สำคัญ มีฝูงฉลามหูดำ เข้ามาหากินในบริเวณอ่าวมาหยา บ่งบอกว่าบริเวณอ่าวมาหยาน่าจะเป็นแหล่งสืบพันธุ์และออกลูกของฉลามหูดำ สรุปโดยรวมระบบนิเวศบริเวณอ่าวมาหยาดีขึ้นหลังจากการปิดอ่าว ยกเว้นสถานภาพปะการังที่ยังคงมีสภาพเสื่อมโทรมมาก จากการท่องเที่ยว ที่ผ่านมา ก่อนปิดอ่าวมาหยา 

...

ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศปิดอ่าวมาหยา อีก 2 ปี แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าก่อนจะเปิดอีกครั้ง คณะกรรมการที่ปรึกษา จะเข้าไปตรวจสอบครั้งสุดท้ายว่ามีความพร้อมของระบบนิเวศที่จะให้บริการกับ นทท.ได้หรือไม่ หลังเปิดให้เข้าเที่ยวจะต้องมีการติดตามตรวจสอบสถานภาพของทรัพยากรทุกๆ 3 เดือน เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดจำนวน นทท.ที่เหมาะสมในแต่ละวันหรือในแต่ละรอบของการเข้าชม เพื่อรักษาทรัพยากรที่มีให้คงอยู่ เพื่อป้องกันความเสียหายของระบบนิเวศทั้งในน้ำและบนบกของอ่าวมาหยา.