ปลื้มใจ! ทีมสัตวแพทย์ศูนย์วิจัยฯ ทะเลอันดามัน ย้ายลูกพะยูน เพศเมีย อายุขวบเศษ พลัดหลงฝูงที่ทะเลกระบี่ ลงสู่ทะเลตรังแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย จนสำเร็จช่วงกลางดึกที่ผ่านมา...

เมื่อช่วงค่ำเวลา 20.00 น. วันที่ 29 เม.ย.62 เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและฝั่งทะเลอันดามัน โดยมี นายสัตวแพทย์ปฐมพงศ์ หรือหมอบิ๊ก จงจิตต์ เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและฝั่งทะเลอันดามัน ได้นำลูกพะยูนเพศเมีย อายุ 1 ปีเศษ น้ำหนัก 20 กิโลกรัม ความยาวประมาณ 1.2 เมตร ไม่พบร่องรอยบาดแผลแต่อย่างใด หลังพบว่าพลัดหลงฝูงจากแม่ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา บริเวณท่าเรือโกเต็ก-หาดคลองม่วง อ.เมือง จ.กระบี่ และว่ายน้ำตามเกาะท้องเรือนักท่องเที่ยว หลังจากก่อนหน้านี้ได้ปล่อยลงสู่ทะเลแล้วแต่ลูกพะยูนยังคงว่ายกลับเข้าฝั่ง เพื่อความปลอดภัยหลังจากนั้นทีมสัตวแพทย์ฯ จึงได้ตัดสินใจเคลื่อนย้ายใส่ท้ายรถยนต์กระบะมายังท่าเรือหาดยาว ต.เกาะลิบง จ.ตรัง เพื่อนำไปปล่อยยังบริเวณแหลมจุโหย หมู่ 1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ใช้เส้นทางเดินเรือประมาณ 18 กม.

...

ขณะเดียวกัน นายประจวบ โมฆรัตน์ ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 10 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมูเกาะลิบง นายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง นายสิทธิพร จิเหลา นายก อบต.เกาะลิบง กลุ่มทางภาคีเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน และผู้นำท้องถิ่นรวมถึงผู้เกี่ยวข้องประมาณ 30 คน ร่วมระดมช่วยเหลือปล่อยลูกพะยูนตัวดังกล่าวกลับสู่ท้องทะเลปลอดภัย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานกับชาวประมงในพื้นที่ในการเฝ้าสังเกตการณ์ และวิธีประคองช่วยเหลือลูกพะยูนเบื้องต้นหากพบลูกพะยูนให้แจ้งเจ้าหน้าที่ และเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมไปตลอด 1 สัปดาห์

นายสัตวแพทย์ปฐมพงศ์ กล่าวว่า พะยูนตัวนี้มีความคุ้นเคยกับคน พยายามว่ายตามเรือจึงตัดสินใจย้ายมาที่แหลมจุโหย เกาะลิบง จ.ตรัง เพราะเป็นแหล่งอาหารแปลงหญ้าทะเลขนาดใหญ่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย มีประชากรพะยูนที่ใหญ่ที่สุด มีโอกาสที่จะเจอแม่และเครือญาติเขาเป็นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งหญ้าทะเล และฝูงพะยูนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก อาจจะทำให้พะยูนตัวดังกล่าวเจอฝูงเดิม หรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับฝูงใหม่ได้ และเป็นบริเวณของเขตห้ามล่าพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าของกรมอุทยานฯ ทำให้เขาได้รับความปลอดภัย ทั้งนี้สภาพโดยรวมลูกพะยูนยังแข็งแรงดี ขณะปล่อยลงสู่ทะเลเห็นได้ชัดและเหตุผลที่ต้องเคลื่อนย้ายในช่วงเวลากลางคืนเพราะกลางวันมีสิ่งรบกวนเยอะ แดดร้อน มลพิษเยอะอาจจะมีความเครียดได้

ด้านนายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนันตำบลเกาะลิบง กล่าวว่า ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราทำงานร่วมกันเป็นทีมมาตลอด ในส่วนชุมชนต่างๆ ในการเฝ้าระวัง กรณีลูกพะยูนตัวนี้ในส่วนชุมชนเองร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ ผู้นำท้องถิ่นจะออกมาสำรวจดูพื้นที่ที่ปล่อยว่ามีอะไรผิดปกติไหม ส่วนเรื่องของหญ้าทะเลนี้มักจะมีปัญหาในช่วงหน้าแล้งเสมอ คาดว่าช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหญ้าก็จะกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้การปฏิบัติงานในครั้งนี้ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีถึงแม้จะเป็นช่วงค่ำและมีลมแรง แต่เจ้าหน้าที่ฯ ทุกภาคส่วนก็ช่วยส่งลูกพะยูนนี้ได้อย่างปลอดภัย โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ก็จะสำรวจความเป็นอยู่ของลูกพะยูนตัวนี้เป็นระยะต่อไป.