กรมพัฒนาที่ดิน เดินหน้าเพิ่มผลผลิตลดต้นทุนพืชเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อขับเคลื่อนการใช้ดินพื้นที่เศรษฐกิจ สร้างรายได้ตลอดทั้งปี โดยใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่...

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.62 นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ดินพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รับทราบข้อเสนอเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานขับเคลื่อนแผนการใช้ที่ดิน ณ ห้องประชุมสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส อำเภอตากใบ จ. นราธิวาส พร้อมทั้งวางการขับเคลื่อนการใช้ที่ดินพืชเศรษฐกิจที่สำคัญจังหวัดปัตตานี ได้แก่ พื้นที่ปลูกข้าว ทุเรียน มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน จังหวัดนราธิวาส พื้นที่ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวหอมกระดังงา มะพร้าว และจังหวัดยะลา ได้แก่ ทุเรียน ส้มโชกุน แก้ไขดินเปรี้ยวจัดโดยวิธีการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ พื้นที่ปลูกข้าวใช้ปุ๋ยพืชสด ร่วมกับน้ำหมักคุณภาพสูง สำหรับยางพาราและปาล์มน้ำมัน ให้ลดต้นทุนโดยปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและเสริมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ปรับสมดุลธาตุอาหารหลักรองและ ธาตุเสริม สำหรับทุเรียน ส้ม เป็นพืชที่ต้องการผลผลิตที่มีคุณภาพของรสชาด จึงต้องการการเอาใจใส่ดูแลคุณภาพของดิน น้ำ และโรคแมลง ให้เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินประสานหน่วยงานที่มีความรู้เฉพาะด้านทำงานบูรณาการร่วมกัน

โครงการฟื้นฟูนาร้าง สถานีพัฒนาที่ดิน ดำเนินการปรับพื้นที่นาร้างเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันตั้งแต่ ปี 2548-2561 จำนวน 100,088 ไร่ เกษตรกร 13,222 ราย และปรับพื้นที่นาร้างปลูกข้าว ในปี 2553-2561 จำนวน 80,352 ไร่ เกษตรกร 17,634 ราย ร่วมบูรณาการ กับกรมการข้าว โดยในปี 2562 ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่นาร้างปลูกข้าว 15,000 ไร่ เกษตรกร 3,788 ราย ปลูกข้าวพันธุ์หอมปทุม หอมกระดังงา และข้าวพันธุ์พื้นเมือง

จากการประเมินทางเศรษฐกิจสังคมพบว่า เกษตรกรปลูกข้าวสำหรับบริโภคและรวมกลุ่มข้าวจำหน่ายในท้องถิ่น ปาล์มน้ำมันเป็นพืชสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวโดยเฉพาะรายที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 20 ไร่ และดูแลเอาใจใส่ดี อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้มอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดิน ติดตามงานการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนแก่เกษตรกร เพื่อให้การใช้ที่ดินมีความต่อเนื่อง เกษตรกรไม่ทิ้งที่ทำกินและเป็นการพัฒนาที่ดิน

สำหรับพื้นที่ที่เกษตรกรมีแหล่งน้ำ ให้ใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่หรือเกษตรผสมผสานใช้ที่ดินเต็มประสิทธิภาพ และมีรายได้ตลอดทั้งปี โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนแนวทางการใช้ที่ดิน สระน้ำไร่นา และปรับปรุงบำรุงดิน รักษาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน วางกรอบการทำงานของพื้นที่ ให้ใช้แผนที่ดินแนะนำการใช้ที่ดินเสนอแก่หน่วยงาน กษ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดเพื่อวางแผนการผลิต การจัดการน้ำและการตลาด รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง การเผาพื้นที่เกษตร เป็นต้น

...

3จชต.,กรมพัฒนาที่ดิน,พืชเศรษฐกิจ,เกษตรทฤษฎีใหม่,การใช้ดิน,