จากพื้นที่นา จำนวน 2 ไร่ สภาพพื้นที่ดินเป็นดินถมลูกรัง ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืช เนื่องจากขาดธาตุอาหารในดิน ทำให้เกษตรกรได้รับผลผลิตไม่ดีพอ ทางสถานีพัฒนาที่ดินระนองได้นำองค์ความรู้ในการปรับปรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ นำมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง โดยเน้นการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ จนปัจจุบันเกษตรกรสามารถปลูกพืชให้ผลผลิตจนสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก...

นางพัชนี กุลกระโทก เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน สถานีพัฒนาที่ดินระนอง เป็นพี่เลี้ยงที่ให้คำแนะนำในพื้นที่ของนายศิวรักษ์ ศรีเกตุ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน โดยการนำนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดินเข้ามาประยุกต์ใช้ในพื้นที่นี้ โดยเน้นการทำน้ำหมักชีวภาพกับปุ๋ยหมัก เพื่อนำไปปรับปรุงบำรุงดินและแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม สามารถปรับโครงสร้างให้กับดินและเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน โดยการใช้น้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย ตอนนี้ปรับปรุงฟื้นฟูสภาพดินขึ้นมาจนสามารถเก็บผลผลิตในแปลงออกจำหน่ายสู่ตลาด โดยที่ตลาดวิ่งเข้ามารับผลผลิตเอง

นายศิวรักษ์ ศรีเกตุ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน เมื่ออดีต เคยเป็นพนักงานบริษัท รับเงินเดือน พบปัญหารายรับไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด หันมาทำการเกษตร โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผลผลิตส่วนมากจะมีผักทั่วไป เช่น ยอดชะอม ผักคะน้า มะนาว และไม้ประดับ ไม้สวยงาม เช่น หน้าวัว สับปะรดสี และยังมีต้นกล้าไม้ต่างๆ เช่น กล้าพันธุ์มะละกอ กล้าพันธุ์ชะอม กิ่งชะอม ทำไว้จำหน่ายเป็นรายให้กับครอบครัวได้ทุกวัน นอกจากนี้อนาคตวันข้างหน้า จะมีการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาปรับใช้ โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการแบ่งโซนพื้นที่โดยพื้นที่ลุ่มจะมีการปรับยกร่องให้กับเกษตรกร และมีการประยุกต์ บูรณาการกับหน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยเหลือจะเป็นด้านประมง ด้านปศุสัตว์ และอื่นๆ ซึ่งเป้าหมายของเกษตรกรจะเป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน โดยมีแนวคิดพื้นที่ 1 ไร่ รายได้ 100,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะจัดสรรพื้นที่โดยการขุดบ่อเก็บน้ำและเลี้ยงปลา ปลูกพืชผสมผสาน โดยจะแบ่งเป็นพืชที่เก็บผลผลิตรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้หมุนเวียนให้กับครอบครัว.

...