“ปีไหนหน้ามรสุม ปีนั้นจะมีกุ้งเคย เยอะ ปีไหนไม่มีมรสุม กุ้งเคยก็น้อย อย่างปีนี้หลังพายุปาบึก กุ้งเคยเข้าเยอะมากถ้าสภาพอากาศดี น้ำดี ของดีก็มีอยู่ในทะเล” พี่ติ๋วเกริ่นนำ
พี่ติ๋ว หรือศรีเวียง วัฒนาลาภ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 88/2 หมู่ 5 ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เล่าถึงอาชีพรุนเคยทำกะปิว่า ทำตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย เกิดมาก็เห็นแล้ว
สมัยก่อนใช้เกียด (เจียด) ฝั่ง มีสามคนเดิน จับหูที่ขึงด้วยอวนตั้งคนละด้าน ลากเข้ามาผ่านหย่อมที่มีกุ้งเคย คนตรงกลางก็ยกท้องเกียดขึ้นสะบัด เอากุ้งเคยใส่ตะกร้า
การหากุ้งเคยออกจากฝั่งไม่เกิน 30 เมตร ถ้าลงไปมากกว่านั้น เจอคลื่นใหญ่จะลากเข้าฝั่งลำบาก ถ้าน้ำเลยหน้าอกก็ต้องใช้เรือ
เกียดฝั่งใช้สามคน ได้แค่กระสอบเดียว ถึงเวลาแบ่ง ต้องแบ่งถึง 4 ให้เจ้าของเกียดด้วย ก็เลิกทำเกียดฝั่งไป
จากนั้นก็มีการทำสะวะ (คนภาคกลางเรียก ละวะ) ขึ้นมา เป็นการรุนคนเดียว สะวะ เป็นเครื่องมือภูมิปัญญา ลักษณะเป็นสวิงขนาดใหญ่ไสไปตามชายฝั่งและริมตลิ่งที่เคยอาศัยอยู่กันเป็นฝูง
สะวะมีขนาดใหญ่ปากกว้างราว 3 วา ยาว 3-4 วา บริเวณปากเปิดกว้าง ลำตัวค่อยๆรีลงไปเรื่อยๆ จนท้ายสุดปลายแหลมและเล็ก วัสดุที่นำมาตัดเย็บเป็นใยสังเคราะห์เหนียวตาเล็กๆ ขึงกับไม้เป็นคันจับ
...
อาชีพหลักพี่ติ๋วทำประมงจับปลาหมึก ช่วงหมดมรสุมจึงออกหากุ้งเคย
บ้านพี่ติ๋วอยู่ริมทะเล อ่าวสะพลี ช่วง 6 โมงเช้า พี่ติ๋วนั่งกินกาแฟรอดูว่ามีคนลงหากุ้งเคยหรือยัง ถ้าเห็นก็เปลี่ยนกางเกง หยิบน้ำ 1 ขวดผูกติดกับสะวะ พร้อมกระสอบหนึ่งลูก เดินลงหาดรุนสะวะไปเรื่อยๆ ตามอ่าวที่มีความยาว 3 กิโลเมตร เพราะกุ้งเคยเข้าไม่เป็นที่
“ใครเจอกุ้งเคยหนาก็ได้เยอะหน่อย ใครเจอไม่หนาก็ได้น้อยหน่อย ไม่มีทะเลาะกัน เขาเดินมาทางนี้เราก็หลบให้”
ลมว่าวหรือลมตะวันออกเฉียงเหนือ จะลงไปหากุ้งเคย มีคนมาเป็นร้อยจากหลายแห่ง ถ้าเจอคนรู้จักก็เดินคุยกันไป ใครทำได้เท่าไหร่ก็ทำ ขออย่างเดียวอย่าเอาเรือเข้ามา สมมติในหาดมี 30 คน ถ้าเอาเรือเข้ามาก็ตัดสิทธิ์ทั้ง 30 คน
“มีอยู่ครั้ง ตอนนั้นเรือเขาอยู่น้ำลึก พอเห็นเราได้ เขาก็เอาเรือเข้ามา เกือบชนเราตาย” พี่ติ๋วว่า
ตอนหลังมีการโทร.หาหัวหน้าเรือตรวจ ประชุมตกลงกันว่า ช่วง 6 โมงถึง 8 โมง ให้คนรุนก่อนแล้วเรือค่อยรุน รักษาสัญญาได้ไม่กี่วัน ความโลภเข้ามา ยังไม่ทันสว่างก็ใช้เรือรุน คราวนี้คนรุนไม่ยอม ก็ห้ามให้เรือรุน แต่มีไม่เชื่อแค่สามสี่ลำ
สุดท้ายเรือก็เลิก แล้วมาเดินรุนกันหมด
พี่ติ๋วบอกว่า ที่นี่เป็นแหล่งหากุ้งเคย มีประจำทุกปี ตั้งแต่ปลายธันวาถึงต้นเมษา มีมากมีน้อยก็มีทุกปี มีอยู่ปีหนึ่งฝนตกหนัก ขยะเต็มไปหมด ลงไปรุน สุดท้ายต้องตัดใจทิ้ง กุ้งเคยจะมีก็มีไปยกสะวะกลับขึ้นบ้าน รอจนกว่าขยะขึ้นฝั่ง
“ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดพาขยะมา หากุ้งเคยไม่ได้ ถึงมีเราก็ไม่ลงไปรุน ถ้าเราเป็นคนหยาบก็ลงไปหา แต่นี่เรากินด้วยก็ไม่ทำแบบนั้น”
พี่ติ๋วบอกว่า เทคนิคการรุนเคย ตอนเช้าจะเดินท่องลงไปในน้ำ ถ้ารู้สึกยิบๆที่เท้าแสดงว่าตรงนี้มีกุ้งเคย ก็ลงสะวะรุนได้เลย
ชนิดของเคยที่ทำกะปิแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ กุ้งเคยสารส้มโอ ตัวจะใหญ่คล้ายเนื้อส้มโอสีชมพู ทางภาคใต้เรียกว่าเคยสารส้มโอ เคยแม่ลูก จะมีตัวเล็กและตัวใหญ่ปนกัน และเคยละเอียดคือตัวเล็กๆ
ถ้าได้เคยสารส้มโอกับเคยแม่ลูก ทำกะปิออกมาเนื้อกะปิสีแดงเพราะหนวดกุ้ง ถ้าเป็นเคยละเอียดสีจะไม่ค่อยสวย ออกสีดำ
“เรารุนจนกว่าจะหมดกุ้งเคยในแต่ละครั้ง ถ้ามีทั้งวันเราก็รุนทั้งวัน ธรรมดาจะมีแค่ช่วงสั้นๆ น้ำขึ้นเต็มที่และน้ำลงเต็มที่ ช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ช่วงเช้าจะหนักหน่อย ช่วงเที่ยงจะไม่มี อีกทีจะเป็นช่วงเย็น”
พี่ติ๋วบอกว่า ได้กุ้งเคยมาแล้วเอามาร่อนในตะแกรง ล้างน้ำทะเลหลายๆน้ำ ดูว่าทรายหมดหรือยัง และเลือกเอาเศษขยะทิ้งให้หมด ต้องทำให้เรียบร้อย เพราะไม่ได้ทำขายอย่างเดียว เราทำไว้กินด้วย
จากนั้นเอาไปตากแดด บ่ายสามก็เก็บ ถ้าแดดอ่อนกว่านี้แมลงวันจะมาตอม อีกอย่างต้องลงทะเลรอบเย็นอีกครั้ง
กุ้งเคยที่เก็บมาต้องเอามาเคล้าเกลือ ขยำเบาๆเรียกว่าหักคอ แล้วใส่ตะกร้าให้สกน้ำ คือให้น้ำไหลผ่านตะกร้า เก็บน้ำนั้นเอาไว้อย่าให้แมลงวันลง แล้วเอามาเคี่ยวทำเป็นน้ำเคย จะมีกลิ่นหอมเอาไว้ขาย แต่ส่วนใหญ่จะขอกันกินมากกว่า แต่น้ำเคยที่ขัดจากปากไห จะหอมและอร่อยกว่า
...
“เมื่อก่อนยังไม่มีถุงมือ ขยำกันจนเลือดไหล” พี่ติ๋วว่า “พอถึงหน้ากุ้งเคย รู้สึกเบื่อ ไม่ทำก็ไม่ได้ แม่ใช้”
ตอนเช้าพอมีแดดก็เอาของเมื่อวานมาขยำอีกครั้ง แล้วตากแดดบางๆ ตกเย็นเอามาขยำอีก ตอนขยำก็เลือกขยะทิ้งไปเรื่อยๆ ขยำทุกวันจนแห้ง วันที่สามน้ำไม่ออก ดูเนื้อกะปิไม่ให้ละเอียดเกินไป ต้องให้หยาบนิดๆถึงจะอร่อย ตากอยู่สี่วัน พอวันที่ห้าก็ปั้นเป็นก้อนแล้วเอาไปตากทั้งก้อนราวสองวัน
จากนั้นเอามาขัดน้ำ คือเอาไปใส่ไว้ในโอ่งหรือไห ใช้ใบตาลปิดข้างบน แล้วเอาไม้ไผ่ขัดให้แน่น ทิ้งไว้วันถึงสองวันน้ำก็จะขึ้นมา ถ้าไม่มีน้ำขึ้นมากะปิก็จะเสีย
“การขัดเคยยาก ถ้าขัดแล้วกดไม่แน่น หรือถ้าแน่นเกินไปน้ำก็จะไม่ขึ้น ต้องกดให้พอดีๆ” พี่ติ๋วว่า “ถ้าทำไม่ดีเป็นก้อนแดง เรียกว่าเคยขี้เลือด เหม็น ไม่อร่อย”
ในละแวกนี้ทำสูตรเดียวกันหมด เคล็ดลับจึงอยู่ที่การขัด เก็บไว้ได้สี่เดือนถึงจะเอาออกมากินหรือขาย กะปิยิ่งไว้นานจะยิ่งหอม
พี่ติ๋วบอกว่า สมัยโบราณเวลาออกเรือหาเคยจะมีการบนแม่ย่านางหรือเจ้าที่ ว่าออกไปหาเคยเที่ยวนี้ขอให้ได้เพียบ (มาก) ของที่บนจะมีเคยจี่กับข้าวต้มกะทิ (ข้าวเปี๊ยะ)
ถ้าบนสองอย่างนี้ เจ้าที่จะรับทุกครั้ง กลับมาก็จะได้กุ้งเคยเป็นตันๆ
“เราไปรุนเคย ถ้าไปเรื่อยๆก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเจอกุ้งเคย มีแรงเท่าไหร่ก็ใส่เต็มที่” พี่ติ๋วว่า “เพราะกุ้งเคยเข้ามาช่วงสั้นๆ เข้ามาแป๊บเดี๋ยวก็แตกกลุ่มไป เราต้องรีบ มีแรงมากเท่าไหร่ก็ต้องลุยตอนนั้น”
ปีนี้กุ้งเคยเข้าหนักมาก ตอนนี้หามาทำกะปิได้เป็น 100 กิโล ขายกิโลละ 200 บาท
ถ้าได้แค่ 10 กิโล ก็ไม่กล้าขาย เก็บไว้กินเอง บ้านเรากินอาหารรสเผ็ด ไม่ว่าจะแกงหรือตำน้ำพริก ก็ต้องใช้กะปิ มีงานทำบุญ เราก็เอากะปิไปช่วย
...
พี่ติ๋วคุยกับลูกไว้ ถ้าไม่ได้ทำงานอะไรก็ให้กลับมาทำประมง ตอนนี้พี่ติ๋วอายุ 60 ปีแล้ว อีก 10 ปีก็คงไปลากสะวะไม่ไหว ถ้าเรานั่งมองคนอื่นเขาทำ แล้วไม่ได้ทำ คงทนไม่ได้ เพราะคันไม้คันมือ
กะปิเราก็ต้องกิน ไปซื้อคนอื่นก็คงไม่อร่อยเท่าเราทำ
พี่ติ๋วยังเปิดร้านขายกะปิ ปลาอินทรีเค็มแขวนไว้เต็มหน้าบ้าน บางทีมีงานเทศกาลก็เอากะปิในกลุ่มมาวางขาย
พี่ติ๋วบอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้สืบสานภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายที่สั่งสมให้มา เราได้อนุรักษ์เก็บไว้ไม่ให้สูญหาย และยังคงใช้ภูมิปัญญานี้ สอนลูกหลานให้ใส่ใจในการทำไม่ให้มีสิ่งสกปรก ไม่ใช่จะขายอย่างเดียว ถ้าเรากินไม่ได้คนอื่นก็กินไม่ได้
“การที่เขาซื้อกะปิเราไป ถือเป็นชื่อเสียงของตำบล อยากให้เขานึกถึงกะปิของเราแล้วกลับมาซื้ออีก เพราะเป็นสูตรของพวกเราเอง ต้องรักษาให้ดี และส่งต่อให้รุ่นต่อๆไป”.