กราบถวายอาลัย “ท่านหวาง” (สว่าง) พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ บ้านโคกโก หมู่ 2 ตำบลโต๊ะเด็ง เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ถูกคนร้ายยิงศีรษะขณะเดินออกจากโบสถ์ หลังทำวัตรเย็น มรณภาพพร้อมกับพระลูกวัด 1 รูป บาดเจ็บสาหัสอีก 2 รูป เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562
“ท่านหวาง” พระนักพัฒนา เกิดที่บ้านโคกโก เรียนหนังสือร่วมกับพี่น้องมุสลิม มีเพื่อนไทยมุสลิมที่สนิทสนมคุ้นเคย ท่านไม่ยอมทิ้งบ้านเกิดไปจำวัดที่ปลอดภัย
“ถ้าไม่ตายไม่ขอเลิกทำความดี ผมไม่หนี ผมถือว่าตรงนี้เป็นแผ่นดินไทย ปู่ย่าตายายผม เป็นคนพุทธ เกิดตรงนี้ ขอตายตรงนี้”...ท่านพูดไว้จนเป็นที่จดจำในหมู่พระด้วยกัน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดให้รับการศพเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี พร้อมพระภิกษุที่มรณภาพไว้ในพระสังฆราชานุเคราะห์โดยตลอด และประทานกำลังใจแก่พระภิกษุสามเณรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการบำเพ็ญศาสนกิจด้วยปณิธานอันแกล้วกล้าและอดทน
เพื่อเป็นหลักของพุทธศาสนิกชน แม้ในพื้นที่และในช่วงเวลาอันยากลำบาก
“Banyong Suwanpong” (บรรยงค์ สุวรรณผ่อง) โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊ก 19 มกราคม เวลา 20.03 น.
แม้ “ความรุนแรง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ภูมิภาคปาตานี” แห่งนี้จะลดน้อยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ภาพรวมความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏโฉมเป็นความรุนแรงนั้นยังคงต่อเนื่อง และกำลังขยับเข้าสู่ปีที่ 15 โดยที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะมีทางออกหรือข้อตกลงใดๆที่ลงตัวอย่างจริงจัง
...
ในขณะที่ความรุนแรงอันยืดเยื้อยาวนานนั้นก็ได้ทิ้งผลสะสมรอการคลี่คลาย แต่ถึงกระนั้นทางการไทยภายใต้การนำของรัฐบาลที่มาจากการก่อรัฐประหารก็ดูจะคาดหวังว่าสถานการณ์ “ความไม่สงบ” นั้นจะ “สงบ” ในเร็ววัน โดยคาดหมายเอาว่าหากไม่มีอะไรเกินคาด ในปลายปี 2562 การแก้ไข “ปัญหา” ในชายแดนใต้จะเคลื่อนเข้าสู่อีกลำดับขั้นหนึ่ง ซึ่ง กอ.รมน.กำหนดเอาไว้ให้เป็นขั้นตอนที่ 3
หรือ...“การเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน”...กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นขั้นตอนในการจัดระเบียบใหม่หลังความขัดแย้งคลี่คลายนั่นเอง
มุมมองข้างต้น รอมฎอน ปันจอร์ รายงานไว้ใน DeepSouth Watch (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้) บทวิเคราะห์หัวข้อ ทบทวน “สันติสุข” และทำความรู้จัก “สันติภาพที่ไร้เสรี” ใต้เงาอำนาจนิยมเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาเอาไว้อย่างน่าสนใจ
โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ...การติดตามดูกันต่อไปว่า แผนดังกล่าวจะบรรลุผลหรือไม่ เพราะนั่นหมายถึงว่าการพิจารณาแนวทางรัฐบาลและ กอ.รมน.ข้างต้นจะคลี่คลายความขัดแย้งได้จริงมากน้อยเพียงใด
“แต่...สิ่งที่พอประเมินได้ในสายตารัฐบาลของรัฐบาลไทยในเวลานี้ ความไม่สงบนั้นอาจสยบได้โดยไม่จำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงสันติภาพใดๆ ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอื่นใดที่สะท้อนการเผชิญกับความไม่เป็นธรรม อันเป็นประเด็นรากเหง้าของความขัดแย้ง”
ด้วยเหตุนี้การพูดคุยเพื่อ “สันติภาพ” ที่ไม่ใคร่คืบหน้ามากนักจึงอาจเป็นเพียงงานในระดับยุทธวิธีของการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ซึ่งมีไว้เพื่อไม่ใช่อะไรอื่น หากแต่มุ่งลดแรงเสียดทานในทางการเมืองเท่านั้น
เหลียวมองมาตรการต่างๆที่รัฐบาลทุ่มเทมาก่อนหน้านี้ยังคงเดินหน้าต่อไปและดูเหมือนว่า “สันติสุข” นั้นจะก่อเกิดได้จากการกำกับควบคุมทิศทางของภาครัฐนั่นเอง
“ความเป็นไปของกระบวนการสันติภาพในบ้านเราดูจะสวนทางกับของเพื่อนบ้านในหลายที่ แม้ความชะงักงันจะปรากฏอยู่บ้างในกระบวนการสันติภาพปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21...
กรณีรัฐบาลเมียนมาและบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อไม่นานมานี้กระบวนการสันติภาพในมินดาเนาของฟิลิปปินส์ได้เดินหน้ามาถึงหลักไมล์สำคัญอีกก้าว เมื่อทางการฟิลิปปินส์ได้บัญญัติกฎหมายลูกที่ส่งผลให้กระบวนการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษบังซาโมโรเดินหน้าอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการลงประชามติ...
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลมะนิลากับกลุ่มติดอาวุธ MILF ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี”
ขณะที่สถานการณ์หลังความขัดแย้งในอาเจะห์...อินโดนีเซียก็กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ เมื่อการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งเป็นรอบที่ 3 หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงเฮลซิงกิเมื่อปี 2548
“รอบปีที่ผ่านมากลไกในการแสวงหาความจริงและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งก็ถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้การผลักดันอย่างจริงจังขทองเครือข่ายประชาสังคม”
...
ประเด็นน่าสนใจ...ภายในประเทศบรรดาเพื่อนบ้านเหล่านี้เตือนใจให้เราตระหนักถึงความยากลำบากและทุ่มเทจริงจังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่าย “รัฐบาล” ซึ่งถือ “อำนาจ” ที่เปิดกว้างต่อการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ นับเป็นประสบการณ์...บทเรียนที่ควรค่าแก่การเรียนรู้
ทว่า...ความชะงักงันของ “กระบวนการสันติภาพ” ที่กำลังดำเนินอยู่บวกกับบรรยากาศการเมืองภายใต้อำนาจนิยมที่จำกัดพื้นที่ทางการเมืองก็ยิ่งกระตุ้นให้ต้องทบทวน ใคร่ครวญถึงสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่
ความพยายามทบทวนในบทวิเคราะห์นี้ ตัดตอนสั้นๆกระชับๆ...พุ่งเป้าไปที่แวดวงการวิจัยสันติภาพ คาดหวังไว้ว่าจะฉายภาพสะท้อนให้ทำความเข้าใจกระบวนการสร้าง “สันติสุข” ในมุมมองที่แตกต่างออกไปดียิ่งขึ้น
ด้วยจะทำให้รับมือกับความขัดแย้งที่ควรจะเป็นได้อย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
“ความเป็นจริงที่ปรากฏในความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธและกระบวนการสันติภาพในหลายที่ ซึ่งรัฐพยายามรวมศูนย์การจัดการกับความขัดแย้งผ่านวิธีการที่ไม่ใช่แค่เน้นหนักไปที่การใช้กำลังกดขี่ปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมายแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งควบคุม...สถาปนาอำนาจนำผ่านการต่อสู้ทางวาทกรรม
...
การช่วงชิงพื้นที่...การจัดการกับทรัพยากรในทางเศรษฐกิจ
แทนที่จะยึดกรอบบรรทัดฐานที่เปิดพื้นที่ทางการเมือง มุ่งเน้นการสร้างความประนีประนอมระหว่างฝ่ายที่ขัดแย้ง การเจรจาที่หวังผลเป็นข้อตกลงทางการเมือง ตลอดจนแนวทางการแบ่งสรรอำนาจ ซึ่งเดิมถือว่าเป็นแนวทางการคลี่คลายความขัดแย้งที่ทรงอิทธิพลมาตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา”
“การสร้างสันติภาพที่เสรี”...กำลังถูกท้าทายแนวคิด...ปฏิบัติการที่เป็นแบบแผนหลัก เพราะการเผชิญกับความขัดแย้งแบบนี้หาใช่แนวทางใหม่อื่นใดเลย หากแต่เป็นการเอาชนะทางการทหารที่เคยเป็นจารีตพื้นฐานตั้งแต่ดั้งเดิม ข้อสังเกตนี้เกิดขึ้นจากนักวิชาการหลายๆคน...พิจารณากรณีเชชเนียในรัสเซีย
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในกรณีสงครามกลางเมืองในศรีลังกา “ชัยชนะทางการทหารนั้นได้ยุติความขัดแย้งทางอาวุธที่ดำเนินมาต่อเนื่องหลายสิบปี” เป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักถึงแนวโน้มสำคัญในความขัดแย้งหลายแห่งที่กลไกของระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมมีบทบาทมากยิ่งขึ้น
เรื่องนี้สำคัญกับ “เรา”...สิ่งที่ “รัฐบาลไทย” ในปัจจุบันรับมือกับปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ... “ปาตานี” นั้นอาจมีส่วนสะท้อนย้อนให้คิดทบทวนได้ด้วยเช่นกัน.