ย้อนดูภาพถ่ายจากดาวเทียม การเคลื่อนที่ของ "พายุปาบึก" ที่เพียงไม่กี่ชั่วโมงจากดีเปรสชัน กลายเป็นโซนร้อน และล่าสุดเปลี่ยนทิศเตรียมเลี้ยวขึ้นฝั่ง แหลมตะลุมพุก  จ.นครศรีธรรมราช

จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Himawari ที่แสดงการเคลื่อนที่ของพายุปาบึก ที่กรมอุตุนิยมวิทยาเก็บไฟล์ภาพไว้ พบว่าตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2561 จนถึงวันที่ 3 ม.ค.2562 การเคลื่อนที่ของพายุลูกนี้ ค่อยๆ ขยับจากทะเลจีนใต้ตอนล่าง มุ่งเข้ามายังอ่าวไทย จนขณะนี้กำลังจ่อเข้าพื้นที่นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ที่คาดว่าจะถึงชายฝั่งใน 2 จังหวัดนี้ช่วงค่ำของวันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.)

...

ไล่เรียงตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. พายุลูกนี้อยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ที่กรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศเกี่ยวกับพายุลูกนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นเป็น “หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง” และได้กลายเป็น “ดีเปรสชัน” ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง เคลื่อนมาทางตะวันตกอย่างช้าๆ ผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากวันที่ 3-5 ม.ค.62

วันที่ 1 ม.ค.62 จากดีเปรสชันได้กลายเป็นพายุโซนร้อนปาบึก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวทางทิศใต้ค่อนทางตะวันตกเล็กน้อย มุ่งหน้าลงอ่าวไทย

วันที่ 2 ม.ค.62 พายุโซนร้อน “ปาบึก” ยังคงเคลื่อนตัวมาทางตะวันตก ผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวงไทย กรมอุตุฯ มีประกาศเตือน พื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน

วันที่ 3 ม.ค.62 พายุโซนร้อน “ปาบึก” เริ่มเปลี่ยนทิศทางเล็กน้อย จากเดิมที่ช่วงตี 4 กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 11 ว่า พายุลูกนี้จะขึ้นฝั่งที่รอยต่อระหว่าง จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี ค่ำวันที่ 4 ม.ค.นี้

...

6 ชั่วโมงต่อมา ประกาศกรมอุตุฯ ฉบับที่ 12 ระบุว่า พายุลูกนี้มีศูนย์กลางห่างจากนครศรีธรรมราช 550 กม. คาดว่าจะขึ้นฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชค่ำวันที่ 4 ม.ค.นี้ โดยส่วนที่จะได้รับผลกระทบส่วนแรกคือบ้านแหลมตะลุมพุกช่วงบ่ายวันที่ 4 ม.ค.โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งอพยพประชาชนทั้งหมดภายในเย็นนี้ (3 ม.ค.)แล้ว.

ขอบคุณภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

อ่านข่าว "ปาบึก"