ทุกภาคส่วนพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก” เริ่มแผลงฤทธิ์วันที่ 3-5 ม.ค. ทวีความรุนแรงหลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย คาดความเร็วลมสูงสุดถึง 95 กม.ต่อ ชม. เทียบเท่าพายุ “แฮเรียต” ที่เคยซัดถล่มแหลมตะลุมพุกเมื่อปี 2505 จ่อขึ้นฝั่งเขตรอยต่อชุมพร-สุราษฎร์ธานี ช่วงค่ำวันที่ 4 ม.ค. ได้รับผลกระทบทุกจังหวัดภาคใต้ เตือนภัย 4 จังหวัดหนักสุด “ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ฯ นครศรีธรรมราช” มท.1 สั่งเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งเรื่องไฟฟ้าและการระบายน้ำ พร้อมอุปกรณ์กู้ภัยและเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชม. สทนช.เร่งพร่องน้ำในเขื่อนรองรับปริมาณน้ำฝน ชาวประมงผวาหนักรีบนำเรือกลับเข้าฝั่งหลบพายุ เรือโดยสารงดให้บริการ รพ.บางสะพานเตรียมย้ายผู้ป่วยวิกฤติหนักไปที่ปลอดภัย

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวอีกว่า สำหรับพายุโซนร้อนปาบึกถือว่ามีความรุนแรงเทียบเท่าระดับเดียวกับพายุโซนร้อน “แฮเรียต” ที่เคยเข้าถล่มแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 ครั้งนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีการเตือนภัยดีเท่ากับปัจจุบัน ทำให้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ขณะที่ในปัจจุบันมีระบบเตรียมพร้อมของภาครัฐ และภาคเอกชนที่ดีแล้ว คิดว่าไม่น่าเสียหายเหมือนกับปี 2505 เบื้องต้นประสานกระทรวงมหาดไทยแจ้งเตือนหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้ 16 จังหวัดแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ พายุโซนร้อนปาบึกเป็นพายุลูกแรกของปี 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะมีพายุเข้าประเทศไทย 1-2 ลูก ที่ผ่านมามีพายุที่สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับประเทศไทยคือ เมื่อปี 2505 พายุโซนร้อนแฮเรียต เข้าแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช และพายุไต้ฝุ่นเกย์ เข้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร เมื่อปี 2532 ทำให้มีผู้ชีวิตจำนวนมาก

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แจ้งสถานการณ์ล่าสุดของพายุปาบึกว่า ขณะนี้ยังเป็นพายุโซนร้อนที่มีความเร็วลมอยู่ที่ 35 น็อต หรือประมาณ 65 กม.ต่อ ชม. แต่คาดว่าเมื่อพายุหันหน้าเข้าสู่อ่าวไทย ความเร็วลมจะเพิ่มขึ้น โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นคำนวณไว้อยู่ที่ 55 น็อต หรือราว 90-95 กม.ต่อ ชม. ความเร็วลมยังอยู่ในช่วงของพายุโซนร้อน มีความใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนแฮเรียตที่เกิดขึ้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก เมื่อปี 2505 สามารถทำให้เสาไฟฟ้าโค่นหักได้ การทวีความรุนแรงขึ้นของพายุเป็นเหตุให้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเปลี่ยนความรุนแรงของคลื่นจากสูง 2-4 เมตร เป็น 3-5 เมตร

แบบจำลองสภาพอากาศระบุด้วยว่า กรณีของพายุโซนร้อนปาบึกนี้ จะมีพื้นที่ฝนตกหนักและเฝ้าระวังสูงสุด 4 พื้นที่ คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีปริมาณฝน 200-300 มม. ในวันที่ 4-5 ม.ค. และอาจจะทำให้บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ที่ 400-500 มม. สำหรับวันที่ 3 ม.ค. พายุปาบึกจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา ก่อน ส่วนวันที่ 4 ม.ค. จะมีฝนตกหนักมากที่ จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร วันที่ 5 ม.ค. จะตกหนักมากที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และ ประจวบคีรีขันธ์ และวันที่ 6 ม.ค. จะเคลื่อนตัวมาตกหนักมากที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอาจจะเลยมาถึง จ.เพชรบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สสนก.ได้เสนอให้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเฝ้าระวังปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ขณะนี้เจ้าหน้าที่ภาคสนามจาก สสนก.ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตั้งเครื่องมือเตรียมพร้อมปฏิบัติการแล้ว

นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติว่า ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก มีเขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของ กรมชลประทานที่มีน้ำเกินกว่า 80% ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบ-คีรีขันธ์ ส่วนเขื่อนที่อยู่ในความดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา สทนช.สั่งการให้พิจารณาเร่งการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่มเติมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เผยว่า ได้ประสานงานกับผู้ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบพายุโซนร้อนปาบึก เบื้องต้นการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยยังคงปกติ ยืนยันว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งนี้ในส่วนของผู้ผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยตอนล่าง หรือตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงมา ได้ทยอยอพยพพนักงานกลับขึ้นฝั่งแล้ว เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กรมมีมาตรการตามแผนงานในเรื่องดังกล่าวแล้ว เน้นย้ำถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญที่สุด การผลิตก๊าซฯยังปกติ ส่วนการผลิตน้ำมันลดลงเล็กน้อย

...

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงการรับมือพายุปาบึกว่า รัฐบาลเตรียมการตั้งแต่ 2 วันที่ผ่านมาแล้ว มีการแจ้งเตือนไปทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะเรื่องประมง การท่องเที่ยว การสัญจรไปมาในพื้นที่อ่าวไทยและฝั่งอันดามันเตรียมการป้องกันตัวเองและขอร้องภาคเอกชนห้ามออกเรือโดยสารช่วงนี้ หลังจากนี้กระทรวงมหาดไทยจะเป็นแม่งานประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือ คาดว่าพายุจะเข้าภาคใต้ตอนบนไปจนถึงตอนล่างวันที่ 3-5 ม.ค. ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินผลจากพายุจะทำให้คลื่นสูงประมาณ 5 เมตร จึงเตรียมความพร้อมสั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานรับมือเรื่องไฟฟ้า ในพื้นที่สามารถช่วยกันป้องกันเบื้องต้นเฝ้าระวังแผ่นป้ายตามเสาไฟเพื่อลดความเสี่ยง และหากมีฝนตกหนักต้องเตรียมความพร้อมด้านการระบายน้ำด้วย ยืนยันว่าระบบเตือนภัยไม่มีปัญหาเพราะไทยมีทั้งระบบและบุคลากรที่ดีมากในระดับอาเซียน สาธารณภัยจะเกิดรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติว่าจะหนักแค่ไหน

...

ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือพายุปาบึก ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผวจ.นครศรีธรรมราช เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำชับอำเภอที่มีพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทยให้เฝ้าระวังคลื่นสูง 3-5 เมตร เรือประมงห้ามออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 3-6 ม.ค. ส่วนอำเภอโซนภูเขาให้เฝ้าระวังฝนตกสะสมเสี่ยงที่จะเกิดดินโคลนถล่ม ให้รีบอพยพชาวบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัย รวมทั้งเตรียมพร้อมศูนย์อพยพชั่วคราวเพื่อรองรับผู้ประสบภัย ขณะที่วันนี้ตลอดทั้งวัน ชาวประมงพื้นบ้านพากันลากเรือประมงขึ้นมาบนฝั่งจำนวนมาก เช่นเดียวกับเจ้าของเรือประมงขนาดใหญ่ได้สั่งการให้ลูกเรือนำเรือเข้าฝั่งทั้งหมดเช่นกัน เพื่อป้องกันความเสียหายจากฤทธิ์ของพายุปาบึก

นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี เผยภายหลังร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ว่า จังหวัดได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ที่สำนักงาน ปภ.จังหวัด เพื่อระดมกำลังทรัพยากรบริหารจัดการ แจ้งเตือนให้อำเภอที่มีพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการเผชิญเหตุ จัดเตรียมเรือท้องแบน อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย และกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชม. ส่วนบรรยากาศที่ปากอ่าวดอนสัก เรือประมงขนาดกลางต่างทยอยเดินทางเข้ามาจอดหลบพายุในร่องน้ำปากอ่าว ขณะที่เรือประมงขนาดใหญ่อยู่ระหว่างเดินทางกลับเข้าฝั่ง คาดว่าจะมีเรือประมงกว่า 500 ลำ เข้ามาจอดหลบพายุที่ปากอ่าวดอนสัก ส่วนเรือโดยสารข้ามฟากไปเกาะสมุยและเกาะต่างๆ งดเดินเรือตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 3 ม.ค. เช่นเดียวกับเรือนอนโดยสารขนาด 150 ที่นอน วิ่งระหว่างสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า หยุดให้บริการชั่วคราวไม่มีกำหนด

...

ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกหนึ่งจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก นพ.เชิดชาย ชยวัฒโฒ ผอ.รพ.บางสะพาน เผยว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ คาดว่าอาจจะต้องย้ายผู้ป่วยวิกฤติหนัก 7-8 ราย หากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นถึงจุดวิกฤติ หากระดับน้ำในคลองวังยาวสูงถึง 4.50 ม. จะต้องย้ายผู้ป่วยหนักไป รพ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนผู้ป่วยที่จะอยู่ต่อจะย้ายขึ้นตึก 6 ชั้น และหากระดับน้ำสูง 5.50 ม. จะงดให้บริการห้องผ่าตัดและห้องฉุกเฉิน แต่ยังให้บริการตรวจโรคทั่วไป วันที่ 3 ม.ค. จะเริ่มเคลียร์คนไข้ คนไหนกลับบ้านได้จะให้กลับ และจะประสานกับ ปภ. และ ตชด.เตรียมการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ด้วย