พ.ศ.2562...ใครๆต่างลุ้นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ประเทศไทย ฟ้าใหม่จะดีขึ้น หรือย่ำต๊อกวุ่นวายไม่เปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกันวงการเกษตรไทยมีความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในปีใหม่นี้เช่นกัน...เป็นความเคลื่อนไหวในระดับที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
สำนักงานเกษตรต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมผลักดัน การเลี้ยงควายน้ำ ทะเลน้อย จ.พัทลุง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกเกษตรโลก (GIASH : Globally Important Agricultural Heritage Systems) ภายในปีนี้
ถ้าการขึ้นทะเบียนประสบผลสำเร็จ “ควายน้ำ ทะเลน้อย” นับเป็นปศุสัตว์ชนิดแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกเกษตรโลก
...
ขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลกจะได้อะไร
“การขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลกจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน เป็นหนทางส่งเสริมการอนุรักษ์ ปกป้องฟื้นฟูวิถีการทำเกษตรให้เป็นแหล่งอาหารเกิดความมั่นคง ลูกหลานไม่อดอยาก ปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดการผลิต ก่อให้เกิดตลาดเครือข่ายใยแมงมุม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมมรดกเกษตรโลก ส่งผลให้เกษตรกรซื้อขายได้ราคาสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียน ทำให้เกิดการฟื้นฟู กลายเป็นแหล่งอาหารและแหล่งท่องเที่ยว สร้างความมั่งคั่งยั่งยืนให้กับเกษตรกรและชุมชน”
แต่การจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกเกษตรโลกได้ นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายว่า ต้องคงลักษณะการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเทคโนโลยีท้องถิ่นดั้งเดิม โดยมีหลักฐานที่มาจากเรื่องเล่า งานเขียน พิธีกรรม ตำนาน ที่มาของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการเกษตร ทั้งในด้านการจัดการสมุนไพร การปรับปรุงสภาพภูมิอากาศ วัฒนธรรม คุณค่าทางสังคม ทั้งที่มาจากชีวิต ความเชื่อ ภาษี จารีตประเพณี ซึ่งการทำเกษตรจะมีความเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ
ทำไมต้องเป็น...ควายน้ำ
ส่วนเหตุผลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เจาะจงเลือกควายน้ำ ทะเลน้อย นางสาวดุจเดือน บอกว่า มาจากการสำรวจบัญชีการขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลก ปรากฏว่า ใน 52 ชนิดของสัตว์และพืชที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2558 ไม่มีประเทศไหนเลยที่ยื่นขอนำควายน้ำมาขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลก
และยังพบอีกว่า ประเทศอื่นๆไม่มีควายน้ำเหมือนอย่างที่พัทลุง จะมีก็แต่ควายป่า แม้แต่ฟิลิปปินส์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องควาย ก็เป็นควายนมที่อาศัยอยู่บนบกเป็นหลัก แม้จะดำน้ำได้ แต่ดำได้ไม่อึดทนนาน เหมือนควายน้ำของไทย ที่ดำนานถึง 23 วินาที
ตำนาน ควายน้ำ ทะเลน้อย
นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ถ่ายทอดเรื่องเล่าตำนานควายน้ำจากนิทานพื้นบ้านให้ฟังว่า ทะเลน้อยเกิดจากปลักควายของเศรษฐีชาวบ้านชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา ที่ได้ให้ข้าทาสบริวารต้อนควายไปเลี้ยงในบริเวณนั้นจำนวนมาก ฤดูแล้งควายจะลงนอนปลักคลายร้อน เพราะควายมีจำนวนมาก ควายลงนอนในปลักนานวันเข้า ปลักควายจึงขยายกว้างใหญ่มากขึ้นจนกลายเป็นทะเลน้อย
...
อีกตำนานมีบันทึกในหนังสือประวัติวัดทะเลน้อย...ในยุคอาณาจักรสุโขทัย เมื่อ 700 ปีล่วงมาแล้ว พ่อขุนได้แผ่อำนาจลงมาทางใต้ สั่งให้เจ้าเมืองเกณฑ์ราษฎรตัดฟันต้นไม้มาต่อเรือรบเพื่อลำเลียงพลไปตีหัวเมืองมลายู
ไม้ถูกตัดไปจำนวนมาก ทำให้เกิดภัยแล้งติดต่อกันนาน 3 ปี และยังมีไฟไหม้ป่ากินเนื้อที่หลายพันไร่ หลังฝนตกใหญ่ปริมาณน้ำได้ท่วมขังจนกลายเป็นบึงขนาดใหญ่หรือทะเลน้อย และทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพมาทำนา และเลี้ยงควายสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
เลี้ยงกันมานับร้อยๆปี คนไทยส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักควายพันธุ์นี้ แต่หลังจากสร้างสะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เชื่อมจากพัทลุงไปสงขลา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสะพานเอกชัย คนผ่านไปมามากขึ้น เห็นตัวดำๆ เขางามตาหวาน อยู่กันเป็นฝูงใหญ่ ว่ายดำผุดดำว่ายอยู่กลางบึง โผล่ขึ้นเหนือน้ำ ในปากจะเต็มไปด้วยหญ้ากระจูดหนู หรือหญ้าข้าวผี เต็มปาก...ควายน้ำเลยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
ควายทำนาสู่ควายทำเงิน
จากอดีตที่ชาวบ้านเลี้ยงควายเป็นแรงงานช่วยทำนา ไถนา นวดข้าว และใช้มูลควายเป็นปุ๋ย เลี้ยงแบบเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ เพื่อมูลควายจะได้กระจายไปทั่วนา แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศให้พื้นที่บริเวณ ต.ทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อ.ระโนด จ.สงขลา และ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ในปี 2518
...
ชาวบ้านต้องเลิกทำนาข้าว แต่ยังคงเลี้ยงควายสืบทอดรุ่นต่อรุ่น และจากที่เคยเลี้ยงควายเพื่อเป็นแรงงาน จึงแปรเปลี่ยนมาเป็นแหล่งเงินออมเคลื่อนที่
แต่ด้วยพฤติกรรมที่ต่างจากฝูงสัตว์ชนิดอื่นที่มีตัวผู้เป็นจ่าฝูง ควายน้ำ ทะเลน้อยจะมีตัวเมียเป็นหัวหน้าฝูง ชาวบ้านเรียกขานให้เป็น ‘แม่โยชน์’ จะทำหน้าที่นำทาง เฝ้าระวังภัย ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตในน้ำ ลูกควายและตัวที่อ่อนแอ จะอยู่รวมกันกลางฝูง ตัวที่แข็งแรงจะล้อมป้องกันภัย บริเวณไหนน้ำลึก ลูกควายจะเอาปากเกยเกาะบั้นท้ายแม่ไปตลอดทาง
การเลี้ยงถูกปล่อยอิสระ ไม่มีการสนตะพายจมูก ควายตัวผู้จึงมักหนีไปฝูงอื่นแต่กว่าจะเข้าฝูงใหม่ได้ต้องชนะใจควายตัวเมีย กว่าจะกลับเข้าฝูงได้ บางครั้งตัวผู้ต้องใช้เวลาเดินตามตื๊อรอบๆฝูงนานเป็นเดือน
เสน่ห์แห่งควายน้ำ
การเลี้ยงจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ฤดูแล้ง (ก.พ.-ต.ค.) จะปล่อยให้ หากินอย่างอิสระในทุ่งหญ้าธรรมชาติ ชาวบ้านจะปล่อยให้ควายอาศัยนอนในทุ่งที่เป็นพื้นที่แทะเล็มหญ้า เจ้าของควายจะสลับผลัดกันมาเฝ้าดูแล
ฤดูฝน (พ.ย.-ม.ค.) ระดับน้ำขึ้นสูงท่วมทุ่งหญ้า ควายจะถูกต้อนกลับมายังหนำควายหรือคอกแห้งที่มีหลังคากลางทะเลน้อย ควายถูกปล่อยให้อยู่อิสระแทบไม่ต้องมาเฝ้าดูแลเหมือนตอนฤดูแล้ง
...
เรื่องขโมยไม่ต้องกังวลเพราะโจรไปมาลำบาก ที่สำคัญควายน้ำที่ถูกปล่อยเลี้ยงแบบอิสระจะมีนิสัยคล้ายควายป่า คนแปลกหน้าเข้าใกล้เป็นถูกฝูงควายวิ่งไล่ขวิด
แม้แต่เจ้าของที่คุ้นเคยกันดี ยังต้องใส่เสื้อผ้าชุดเดียวกับวันแรกที่ต้อนไปลงทะเลน้อย เพราะควายจะจำกลิ่น เสื้อผ้า และเสียงเจ้าของ
ฉะนั้น การจับควายที่นี่จึงไม่เหมือนควายทั่วไป...ก่อนจับไปขายต้องเอาขี้ควายมาทาเชือกที่จับและทามือ ทาเท้า เสื้อผ้า เพื่อให้ฝูงควายได้ดมกลิ่น และต้องไปยืนเหนือลมให้ควายได้กลิ่น
จากนั้นใช้เชือกคล้องคอควายแล้วดึงมาเจาะจมูกด้วยเหล็กแหลมจากนั้นก็จับมัดเท้าแล้วลากลงเรือขายนายฮ้อย พ่อค้าควาย
ควายน้ำกับระบบนิเวศ
“ควายน้ำมีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมวัชพืชในพื้นที่ชุ่มน้ำ ช่วยลดการตื้นเขินและน้ำเสียที่เกิดจากการทับถมกันของวัชพืช ซึ่งในอดีตวัชพืชเหล่านี้ถูกควบคุมด้วยน้ำเค็ม แต่หลังจากมีการสร้างประตูระบายน้ำปากระวะในปี 2498 การหมุนเวียนของน้ำในทะเลน้อยถูกตัดขาด สัตว์น้ำลดลง มีวัชพืชมาก ทำให้ทะเลน้อยตื้นเขินอย่างรวดเร็ว”
ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ชี้ว่า การเลี้ยงควายน้ำสามารถกำจัดหญ้าและพืชน้ำที่ขึ้นอยู่ในทะเลน้อยได้วันละ 100 ตัน รอยเหยียบย่ำของควายยังก่อให้เกิดทางน้ำธรรมชาติอย่างน้อย 22 สาย เป็นแหล่งรวมสัตว์น้ำนานาชนิด มีพันธุ์ปลา 40 ชนิด อาชีพประมง โดยเฉพาะยอยักษ์ และปลักควายยังกลายเป็นที่วางไข่
ของปลา
เพราะการเหยียบย่ำยังก่อให้เกิดร่องน้ำเล็กๆเป็นแนวกันไฟ ตามธรรมชาติในพื้นที่ป่าพรุ ควายน้ำช่วยควบคุมระบบนิเวศ ทำให้พื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ เป็นอุทยานนกน้ำที่มีชื่อเสียง จากการสำรวจพบนกทั้งหมด 287 ชนิด มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ และรอยทางเดินควายยังเป็นแอ่งน้ำน้อยของสัตว์อื่นๆในช่วงหน้าแล้ง.
ทีมข่าวเกษตร